นางฟาง หลิว เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคเพื่อนำเสนอแผนงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินระดับโลก ณ ห้อง Riverside 4 โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ ICAO ที่ได้มีการทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับไทยมาโดยตลอด จนสามารถแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (Significant Safety Concern: SSC) ได้สำเร็จ เป็นผลให้ประเทศไทยถูกถอดออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (ปลดธงแดง) ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2560 ทั้งนี้ ไทยในฐานะสมาชิกของ ICAO
และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ มุ่งมั่นที่จะรักษาความสำเร็จนี้ และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินไทยและยกระดับการบินพลเรือนไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับระดับสากล รวมทั้งจะดูแลให้อุตสาหกรรมสายการบินทั้ง สายการบินเต็มรูปแบบและสายการบินต้นทุนต่ำ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและปฏิบัติตามกฎระเบียบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยหนึ่งในแผนงานคือ การผลักดันให้ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aeropolis) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของภูมิภาค โดยมีเชื่อมโยงของสนามบินสำคัญทั้ง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอูตะเภา ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) สนับสนุนการเดินทาง การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตเพื่อให้ไทยสามารถก้าวพ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลางได้
โอกาสนี้ เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้กล่าวแสดงประทับใจภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญต่อการบินพลเรือนโดยให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยทางการบินอย่างรวดเร็ว ส่งผลโดย ICAO ได้ถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (ปลดธงแดง) และมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินพลเรือนของไทยจะประสบความสำเร็จตามที่รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ ในการสนับสนุนการท่องเที่ยวของไทยและภูมิภาคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ยังได้กล่าวว่า สถาบันการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะความเป็นมืออาชีพให้แก่บุคลากรด้านการบินพลเรือนมีความสำคัญและต้องดำเนินควบคู่ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการกำหนดแผนหลักการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเล็งเห็นว่าไทยสามารถพัฒนาทักษะและฝึกอบรมบุคคลากรด้านการบินพลเรือนเพื่อเป็นบุคคลกรสำคัญในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนของไทยและภูมิภาค ซึ่งเป็นหนึ่งภูมิภาคที่อุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางอากาศมีความเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย