ภาพยนตร์เรื่อง Invictus (2009) ของผู้กำกับชั้นครูอย่าง Clint Eastwood ที่สร้างจากหนังสือ ‘Playing the Enemy’ เล่าเรื่องจริงของ Nelson Mandela ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ (นำแสดงโดย Morgan Freeman) ที่พยายามใช้ทัวร์มาร์เม้นท์รักบี้ชิงแชมป์โลก (Rugby World Cup) เป็นสื่อเชื่อมกลางระหว่างคนผิวขวาและผิวดำในแอฟริกาใต้ที่ขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน
ฉากเปิดเรื่องที่ขบวนต้อนรับของ Mandela ซึ่งเพิ่งได้รับอิสระจากการถูกคุมขังมานานกว่า 27 ปี เคลื่อนตัวมาถึงถนนเส้นหนึ่ง กลุ่มคนผิวดำเสื้อขาดรุ่งริ่งกำลังเล่นฟุตบอลอยู่ฝั่งซ้ายของถนนได้กู่ร้องแสดงความยินดีกับอิสรภาพของเขา ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักเรียนผิวขาวฝั่งขวาที่กำลังเล่นรักบี้มองดูขบวนด้วยสีหน้าวิตก โค้ชรักบี้ผิวขาวได้บอกกับลูกศิษย์ว่าประเทศของพวกเขากำลังจะพบกับความวุ่นวายอีกครั้ง “ผู้ก่อการร้าย Mandela ถูกปล่อยตัวแล้ว”
ฉากดังกล่าวเป็นการบอกเล่าสถานการณ์ในแอฟริกาใต้ช่วงทศวรรษ 1990 ได้เป็นอย่างดี หลังจากได้อิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 1913 แอฟริกาใต้ถูกปกครองโดยคนผิวขาวอดีตเจ้าอาณานิคม ที่ออกกฎหมายการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิว กีดกันชาวแอฟริกันพื้นเมืองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ให้มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมากดขี่คนผิวดำในทุกด้าน โรงเรียน โรงพยาบาล บริการสาธารณะทุกประเภทแยกกันให้บริการระหว่างคนผิวขาวและผิวดำ ทั้งยังตัดสิทธิทางการเมืองชาวแอฟริกันพื้นเมือง สร้างความไม่พอใจจนมีการลุกฮือต่อต้านจากชาวผิวดำหลายต่อหลายครั้ง
ท้ายที่สุดจากแรงกดดันของการต่อสู้ภายในประเทศและจากนานาชาติ ทำให้รัฐบาลคนผิวขาวพรรค ‘National Party’ ที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานต้องยกเลิกกฎหมายแบ่งแยกสีผิวไป ในปี 1994 แอฟริกาใต้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้สิทธิเสรีภาพและมีการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง ส่งผลให้ Mandela ได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศ
ฉากดังกล่าวของ Invictus แสดงความรู้สึกของคนต่างชนชั้นในช่วงทศวรรษ 1990 ที่เริ่มมีการผ่อนคลายกฎหมายแบ่งแยกสีผิว และปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังจากการต่อต้านรัฐบาล (ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Mandela) โดยใช้กีฬาเป็นสัญลักษณ์แบ่งชนชั้น ‘ฟุตบอล’ เป็นกีฬาที่นิยมในหมู่คนผิวดำ ส่วน ‘รักบี้’ นิยมเล่นกันในคนผิวขาว การขึ้นสู่อำนาจของ Mandela จึงสร้างความวาดระแวงให้กับคนผิวขาวว่าจะถูกรัฐบาลใหม่เอาคืนหรือไม่
ในปี 1995 หลัง Mandela ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเพียงปีเดียว ประเทศแอฟริกาใต้ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก ทั้งนี้รักบี้เป็นกีฬาที่เป็นความภาคภูมิใจของชนชั้นสูงผิวขาว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากคนผิวดำ และอาจเลยเถิดถึงขั้น ‘เกลียด’ ด้วยซ้ำ Mandela เองเคยเล่าว่าตอนที่เขาอยู่ในคุก เวลาที่มีการแข่งขันรักบี้ทีมชาติเกิดขึ้น เหล่านักโทษทั้งหลายจะพากันเชียร์ทีมฝั่งตรงข้าม เนื้อหาในภาพยนตร์ส่วนใหญ่จึงได้เล่าเรื่องของ Mandela ที่พยายามทำให้ทุกเชื้อชาติรวมถึงคนผิวดำรวมใจกันเชียร์ทีมรักบี้ที่เต็มไปด้วยคนผิวขาว เพื่อนำไปสู่การสมานฉันท์ของคนในชาติ
ภาพยนตร์อาจจะสะท้อนความเป็นจริงของช่วงเวลานั้นๆ แต่สำหรับโลกความเป็นจริงในเวลาต่อมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะใช้กีฬาลบภาพการแบ่งแยกเชื้อชาติที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน คนผิวขาวยังคงมีสถานะทางเศรษฐกิจสูงกว่าคนผิวดำที่ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในหลายด้าน อีกทั้งยังมีการมองว่ากีฬารักบี้นั้นเป็น ‘พื้นที่ของการแบ่งแยกสีผิวยุคใหม่’
ในวาระครบรอบ 20 ปี ของการสิ้นสุดการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิวเมื่อปี 2014 ตัวแทนจากกระทรวงกีฬาของแอฟริกาใต้ออกมายอมรับว่า ความหลากหลายทางสีผิวในกีฬาอย่างรักบี้ไม่ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนมากนัก กีฬาอย่างรักบี้และคริกเก็ตยังเป็นพื้นที่ของคนผิวขาวเสียส่วนใหญ่ ตัวเลขของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าต้องเพิ่มจำนวนคนผิวดำถึง 3 เท่าในกีฬารักบี้ เพื่อที่จะให้ถึงเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้คือร้อยละ 50 ทั้งที่คนผิวดำมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ในแอฟริกาใต้
สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะรักบี้และคริกเก็ตยังคงนิยมเล่นในโรงเรียนระดับสูงที่คนผิวดำส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ (คนผิวดำในทีมรักบี้นั้นมักจะมาจากครอบครัวฐานะดีที่พอจะเข้าโรงเรียนระดับสูงได้เท่านั้น)
แต่กระนั้นก็���ีข่าวการเลือกปฏิบัติทางสีผิวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน อย่างในกรณี Heyneke Meyer โค้ชทีม Springboks (ทีมตัวแทนชาติแอฟริกาใต้ ทีมเดียวกันในภาพยนตร์เรื่อง Invictus) ถูกกล่าวหาว่ากีดกันทางสีผิว จากการที่เขามักจะไม่เลือกเอาผู้เล่นผิวดำเข้าสู่ทีมชาติ แม้เขาจะออกมาปฎิเสธว่าเขาเลือกผู้เล่นตามศักยภาพมากกว่าสีผิว แต่ก็ไม่สามารถลบคำวิจารณ์ต่อวงการรักบี้ในประเทศว่ายังมีการเลือกปฏิบัติกับคนผิวดำอยู่ได้ อย่างที่ Peter de Villiers อดีตโค้ชผิวดำคนแรกของทีม Springboks ออกมาบอกว่า “ทำให้ประเทศกลับมาก่อนยุค 80’s ที่คนผิวดำต้องเชียร์ทีมตรงข้ามเพราะการแบ่งแยกสีผิว” รวมทั้ง Chester William อดีตนักรักบี้ผิวดำเพียงคนเดียวที่อยู่ในทีมชุดคว้าแชมป์โลกปี 1995 ได้ออกมาให้ความเห็นว่าในวงการรักบี้ คนผิวดำได้รับโอกาสน้อยกว่ามาโดยตลอด “หลายสิ่งดีๆ ที่เราทำให้ในปี 1995 ถูกทำลายลง”
Mandela จากโลกไปเมื่อปี 2013 เขาได้รับการยกย่องในฐานะผู้ปลดปล่อยคนผิวดำจากการถูกกดขี่ภายใต้กฎหมายแบ่งแยกสีผิว แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนสองสีผิวในแอฟริกาใต้ คนผิวขาวยังสืบทอดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมา “รัฐบาลปล่อยให้มาเฟียรักบี้รุ่นเก่าเข้าควบคุมกีฬาของชาติ เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง” พรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress) ที่ Mandela เคยสังกัดอยู่ เคยระบุในแถลงการณ์
ในบทความ Patterns inherited from South Africa’s colonial past still persist in sport ของ Francois Cleophas อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์กีฬาของมหาวิทยาลัย Stellenbosch ในแอฟริกาใต้ ได้อธิบายเรื่องนี้ว่าชนชั้นสูงมักจะหวงแหนวัฒนธรรมของพวกเขา เช่นเดียวกับกีฬาที่ไม่ต้องการให้ชนชั้นล่างได้สัมผัส ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ผู้ปกครองชาวอังกฤษได้เข้ามาแบ่งแยกการแข่งขันกีฬาในประเทศอาณานิคมตามชนชั้น เชื้อชาติ และสีผิว Cleophas มองว่ากีฬารักบี้ในแอฟริกาใต้จึงสะท้อนภาพของระบอบอาณานิคมที่ยังหลงเหลืออยู่