นายแดน อัมมันน์ ผู้แทนบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ลงนามในข้อตกลงด้านการลงทุนร่วมกับตัวแทนรัฐบาลเกาหลีใต้ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งเกาหลีใต้ หรือเคดีบี เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส เกาหลีใต้ หรือ GM Korea ซึ่งประสบภาวะขาดทุนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากยอดขายรถยนต์จีเอ็มทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
หนังสือพิมพ์จุงอังเดลี่ สื่อของเกาหลีใต้รายงานว่า เจนเนอรัล มอเตอร์ส สำนักงานใหญ่ เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 76.96 ของจีเอ็ม โคเรีย ส่วนหุ้นอีกร้อยละ 17.02 เป็นของเคดีบี แต่เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว เงื่อนไขคุ้มครองสิทธิของเคดีบีในการวีโต้ค้านมติของเจนเนอรัล มอเตอร์ส เพิ่งหมดอายุลง และเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จีเอ็ม โคเรีย ประกาศว่าจะปิดโรงงานผลิตในเมืองกุนซาน ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักของเกาหลีใต้ เพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจและควบคุมต้นทุน โดยรวมถึงการเลิกจ้างพนักงานกว่า 2,000 คนภายในเดือน พ.ค.
ภายหลังจากจีเอ็ม โคเรีย ประกาศว่าจะปิดโรงงานและดำเนินโครงการให้พนักงานลาออกด้วยความสมัครใจช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศให้เมืองกุนซานเป็นเขตวิกฤตอุตสาหกรรม เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณและแผนการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่จะต้องตกงานหรือสูญเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่สืบเนื่องจากการปิดโรงงานของจีเอ็ม
อย่างไรก็ตาม โคเรียเฮรัลด์รายงานว่า การลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างตัวแทนผู้บริหารเจนเนอรัล มอเตอร์ส สำนักงานใหญ่ และตัวแทนรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 26 เม.ย. มีเงื่อนไขว่าเจนเนอรัล มอเตอร์ส และจีเอ็ม โคเรีย จะลงทุนอีก 7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อดำเนินกิจการในเกาหลีใต้อีก 10 ปี โดยใช้วิธีแปลงหนี้เป็นทุนจากจีเอ็ม โคเรียไปยังเจนเนอรัล มอเตอร์ส สำนักงานใหญ่ รวม 2,700 ล้านดอลลาร์
ส่วนเงินลงทุนเพิ่ม 4,400 ล้านดอลลาร์จะอยู่ในความรับผิดชอบของจีเอ็ม โคเรีย และเคดีบีจะลงทุนอีก 810,000 ล้านวอน (ประมาณ 16,200 ล้านบาท) เพื่อให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนหุ้น และป้องกันเจนเนอรัล มอเตอร์ส ย้ายฐานการลงทุน
แรงงาน 'ฆ่าตัวตาย' ภาพสะท้อนวิกฤตอุตสาหกรรม
การประกาศปิดโรงงานผลิตของจีเอ็ม โคเรีย ภายในเดือน พ.ค. เป็นการตัดสินใจของแมรี่ บาร์รา ประธานบริหารจีเอ็ม โคเรีย ซึ่งยืนยันว่าบริษัทจะต้องปรับลดขนาดลง เพื่อลดต้นทุนให้เหมาะสมกับภาวะขาดทุนสะสม และเสนอให้ปิดโรงงานในเมืองกุนซาน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ฐานการผลิตที่สำคัญของจีเอ็ม โคเรีย นอกเหนือจากโรงงานที่ชอลลาเหนือและบูพย็อง
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ฮันคโยเรห์ รายงานว่า พนักงานของจีเอ็ม โคเรีย 3 ราย ซึ่งทำงานในโรงงานที่กุนซานและบูพย็อง ตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังจากทำสัญญาเข้าร่วมโครงการลาออกโดยสมัครใจได้ไม่นาน โดย 2 ใน 3 ของผู้ก่อเหตุฆ่าตัวตาย ทำงานกับจีเอ็ม โคเรีย มานานกว่า 30 ปี ส่วนอีกรายหนึ่งเป็นผู้ที่เคยทำงานให้กับบริษัทแดวูมาก่อนที่จะรวมกับจีเอ็ม โคเรีย
(จีเอ็มเปลี่ยนรถยนต์ที่เคยผลิตในนาม 'จีเอ็ม แดวู' เป็นเชฟโรเล็ตตั้งแต่ปี 2554 แม้จะมีผู้ประท้วงต่อต้าน)
นอกจากนี้ สมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 100 คนยังได้ปักหลักประท้วงหน้าทำเนียบประธานาธิบดีหลายวันเมื่อเดือน เม.ย. รวมถึงบุกเข้าไปในสำนักงานของนายคาเฮร์ คาเซ็ม ผู้บริหารของจีเอ็ม โคเรีย ที่เมืองบูพย็อง เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ทำให้สำนักงานได้รับความเสียหาย โดยโฆษกของกลุ่มสหภาพแรงงานระบุว่าภาวะขาดทุนของจีเอ็ม โคเรีย เป็นผลจากการดำเนินการบริหารและการตลาดที่ผิดพลาด แต่พนักงานกลับเป็นผู้ที่ต้องรับเคราะห์แทน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สหภาพแรงงานเรียกร้องให้กรรมการบริหารของจีเอ็ม โคเรีย ทบทวนเงื่อนไขการเลิกจ้างว่าเป็นธรรมหรือไม่ รวมถึงจ่ายค่าชดเชยแรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและครอบคลุม และให้คำมั่นสัญญากับแรงงาน
เปลี่ยนเป้าหมายการผลิต มุ่งสู่ฮับ 'รถยนต์ไฟฟ้า'
ตัวแทนสหภาพแรงงานและฝ่ายบริหารของจีเอ็ม โคเรีย ต้องประชุมร่วมกันหลายครั้งกว่าจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ก่อนวันที่ 20 เม.ย. โดยข้อตกลงล่าสุด คือ ผู้เข้าร่วมโครงการลาออกโดยสมัครใจมีจำนวนกว่า 2,600 คน ส่วนผู้ที่ยังทำงานต่อไปจะถูกส่งไปยังโรงงานอื่น และสหภาพแรงงานยอมรับเงื่อนไขว่าทางบริษัทจะไม่จ่ายโบนัสให้ในปีนี้ รวมถึงยอมตัดสวัสดิการด้านการอุดหนุนทุนการศึกษาของบุตรพนักงาน แต่ขณะเดียวกันทางบริษัทได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ของเจนเนอรัล มอเตอร์ส ในโรงงานเกาหลีใต้เพิ่มเติม อีก 2 รุ่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการได้ในปีหน้า (2562) และปี 2565
เว็บไซต์โคเรียเฮรัลด์ รายงานว่านายแพ็กอึนกยู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ได้ยื่นข้อเสนอให้จีเอ็ม โคเรีย พิจารณาแผนย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศมายังเมืองกุนซาน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องปิดโรงงาน เพราะเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่จีเอ็ม โคเรีย ระบุว่าการย้ายฐานผลิตไม่คุ้มค่าการลงทุน
นอกจากนี้ จีเอ็ม โคเรีย ประเมินว่า การปิดโรงงานที่กุนซานจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก ขณะที่การเตรียมผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในโรงงานอื่นๆ จะช่วยให้จีเอ็ม โคเรีย มีโอกาสแข่งขันทางธุรกิจกับบริษัทรถยนต์ฮุนไดและเกีย ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเกาหลีใต้ได้อย่างสูสียิ่งขึ้น และคาดว่าแผนการทั้งหมดนี้จะช่วยให้จีเอ็ม โคเรีย กลับมามีผลกำไรได้ภายในปีหน้า
ที่มา: Joongang Daily/ Korea Herald/ Reuters/ Just Auto/ Hankyoreh/ Business Korea
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: