ไม่พบผลการค้นหา
เดอการ์นีย์ บานูรี เด็กสาวชาวปากีสถาน กับการเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนเตรียมทหารหญิงในปากีสถานที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (60)

เดอการ์นีย์ บานูรี เด็กสาววัย 13 ปี ฝันอยากเป็นทหาร ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมปากีสถานที่ถูกห่อหุ้มไปด้วยแนวคิดอนุรักษ์นิยม มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่หยั่งรากลึก และกองทัพก็ยังขึ้นชื่อเรื่องการกีดกันทางเพศ

แต่วันนี้เดอการ์นีในชุดเครื่องแบบสีกาเต็มยศ กำลังฝึกสวนสนามร่วมกับเพื่อน 70 คนอย่างกระฉับกระเฉง พวกเธอเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนเตรียมทหารหญิงในปากีสถานซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ในแคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา โดยอยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบาดไปกว่า 100 กิโลเมตร 


เดอการ์นีเล่าถึงความฝันสูงสุดในชีวิตอย่างกระตือรือร้น ดวงตาเธอเป็นประกาย 


“ฉันอยากจะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำไมจะไม่ได้ล่ะ ในเมื่อผู้หญิงยังเป็นนายกฯ รมว.กระทรวงต่างประเทศ หรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ เธอก็ควรจะเป็นหัวหน้ากำลังพลทั้งหมดได้ด้วย ฉันจะทำให้ดู”

ความฝันของเดอการ์นีอาจฟังดูแสนไกลเมื่อเทียบกับความฝันของผู้หญิงปากีสถานในอดีต พวกเธอหวังแค่ได้ออกไปเดินเล่นนอกบ้าน โดยไม่ถูกกักบริเวณด้วยเหตุผลข้อเดียวคือ 'ความเป็นผู้หญิง'


000_TW75Q.jpg

เดอการ์นีย์ บานูรี

เตรียมทหารสุดหรู แต่โรงเรียนทั่วไปขาดงบประมาณ

โรงเรียนเตรียมทหารทุกแห่งในปากีสถานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล โดยเป็นที่หล่อหลอมเด็กผู้ชายหัวกะทิที่จะก้าวไปเป็นกำลังพลของกองทัพหรือหน่วยงานรัฐต่อไป นั่นหมายความว่าพวกเขามีอนาคตที่สดใสรออยู่ รัฐจะมอบที่ดินให้ และพวกเขาก็จะได้เรียนในหลักสูตรและใช้อุปกรณ์การเรียนที่ดีเยี่ยม 

ทว่ามันช่างเป็นภาพที่ต่างกันสุดขั้วเมื่อเทียบกับโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป ที่มักจะขาดแคลนงบประมาณจนเป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายสิบปี



000_TW76O.jpg


ผลสำรวจจากภาครัฐเมื่อปีที่ผ่านมา พบเด็กปากีสถานกว่า 24 ล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือ และเมื่อแบ่งแยกหญิงและชายก็พบข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะตัวเลขเด็กผู้หญิงที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงเกือบ 13 ล้านคน ขณะที่เด็กผู้ชายมีราว 11 ล้านคน 

อย่างไรก็ดี แต่ละปีเด็กชายหลายร้อยคนมีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนทหารซึ่งมีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ แต่เด็กผู้หญิงกลับไม่มีสิทธิในโรงเรียนชั้นนำเหล่านั้นแม้แต่น้อย 

“โรงเรียนเหล่านั้นอาจช่วยให้เด็กผู้หญิงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ มาช่วยงานระหว่างประเทศหรือในหน่วยงานรัฐ ไปเป็นวิศวกรและแพทย์” อดีตนายทหารระดับสูงรายหนึ่ง กล่าวกับเอเอฟพี

ความไม่เท่าเทียมในกองทัพ

ในประเทศปากีสถาน กองทัพได้ชื่อว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจที่สุด โดยปกครองประเทศมาเกือบกึ่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ โดยหลายคนยังเชื่อว่ากองทัพยังมีอิทธิพลต่อรัฐบาลพลเรือนในเรื่องนโยบายกลาโหมและต่างประเทศ 

แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาผู้หญิงกลับถูกตัดขาดจากกองทัพ พวกเธอได้รับอนุญาตให้ทำงานแค่ในกองอำนวยการ หรืองานเอกสารเล็กน้อยเท่านั้น 

ทว่าในปี 2003 มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อนายพลเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ผู้นำเผด็จการคณะรัฐประหารในขณะนั้น อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมงานในหน่วยรบได้ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงจำนวนมากเข้าทำงานในกรมกองต่าง ๆ 

ที่ผ่านมา กองทัพไม่เคยเปิดเผยจำนวนทหารหญิงซึ่งคาดว่ามีจำนวนกว่า 700,000 คน โดยแหล่งข่าวของเอเอฟพีซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยนามให้ข้อมูลว่ามีนายทหารหญิงไม่ต่ำกว่า 4,000 คนประจำการในกองทัพบก โดยเขาไม่เปิดเผยรายละเอียดอื่น ๆ 

จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามที่ว่าในระยะหลัง ทหารหญิงได้ก้าวข้ามตำแหน่งในออฟฟิศมาสเป็นนายทหารระดับสูง เช่น อะยีชะ ฟารู้ค ซึ่งเป็นนาวาอากาศหญิงคนแรกของกองทัพเมื่อปี 2013 ได้อย่างไร 


000_TW769.jpg


สานฝันเด็ก(หญิง)ปากีสถาน

ด้านพลจัตวาจาวิด ซาร์วาร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมทหารหญิง ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า นักเรียนของเขาจะถูกฝึกให้พร้อมไปทำงานในตำแหน่งใดก็ได้ที่พวกเธอต้องการ ซึ่งรวมไปถึงงานภายในกองทัพบก 


“ผมต้องการให้เด็กผู้หญิงพัฒนาความสามารถจนเต็มที่ และไปต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม ส่ิงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อพวกเธอมีการศึกษาที่ดี” ผอ.โรงเรียน กล่าว


เขากล่าวว่า ในปีการศึกษาหน้าจะรับนักเรียนเพิ่มอีก 80 คน โดยมีค่าเทอมตกอยู่ราวปีละ 57,000 รูปี (ราว 17,000 บาท) โดยรวมค่าห้องพักที่ติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไว้ด้วย ซึ่งเป็นความหรูหราที่ไม่มีวันจะได้เห็นในโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น นับเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญระดับภูมิภาคที่ถูกหล่อหลอมด้วยแนวคิดทางศาสนาและอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ทำให้ผู้หญิงหลายคนจำกัดตัวเองอยู่ในพื้นบางมุมของบ้านที่แบ่งไว้สำหรับผู้หญิง ขณะที่แหล่งข่าวเอเอฟพีระบุด้วยว่าในอดีตผู้หญิงหลายคนก็ไม่ได้รับอนุญาติให้นอกบ้านของตัวเอง



000_TW75P.jpg


แต่สำหรับเดอการ์นีย์และเพื่อน ๆ โรงเรียนแห่งนี้ได้มอบโอกาสให้พวกเธอได้สู้ต่อ โดยอะฟิฟา อะลัม นักเรียนคนหนึ่งกล่าวว่า เธออยากเดินตามรอยนาวาอากาศหญิงฟารุ้คไปทำงานในกองทัพอากาศ และยังหวังไกลไปจากเรื่องของตัวเอง 


“โรงเรียนแห่งนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้ทำให้ความฝันของการสร้างเสริมพลังผู้หญิง (women empowerment) เป็นจริงขึ้นได้” อะฟิฟา กล่าว



ที่มา : AFP