ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร กล่าวถึงสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งของไทยในปี 2561 ในงานเสวนาสาธารณะ TGWA ครั้งที่ 8 เรื่อง "สถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งปี 2561: ทช ประกาศไทยหลุดพ้นวิกฤติกัดเซาะแล้ว…จริงหรือ?" ร่วมกับอาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จากการศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2533 พบว่าประเทศไทยเริ่มพบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2535-2536 ที่หาดบางเทา จ.ภูเก็ต บางพื้นที่ของ จ.นราธิวาส และบริเวณอ่าวไทยตอนบนรูป ก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ศ.ดร.ธนวัฒน์ ได้จัดทำรายงานสถานการณ์การกัดเซาะของประเทศไทยให้กับทางธนาคารโลก พบว่าการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยในห้วงเวลานั้นมีพื้นที่กัดเซาะขั้นรุนแรง (อัตรากัดเซาะมากกว่า 5 เมตรต่อปี) ทั่วประเทศมีระยะทางยาวประมาณ 599 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 21% ของความยาวชายฝั่งทั่วประเทศไทย
ขณะที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) ได้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ในปี 2551 โดยระดมแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ทช กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นและจังหวัดริมชายฝั่งทะเลทั้ง 23 จังหวัดทั่วประเทศ
สถานการณ์การกัดเซาะของประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น ในปี 2556 พบว่าพื้นที่การกัดเซาะรุนแรงทั่วประเทศมีระยะทางยาว 830 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 30% ของความยาวชายฝั่งทั่วประเทศ สรุปสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งทะเลในปัจจุบัน พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
โดยเฉพาะพื้นที่กว่า 600 กิโลเมตร ที่ภาครัฐได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีต่างๆ เช่น เขื่อนกันคลื่นแบบต่างๆ เขื่อนกันตะกอนปากร่องน้ำ กำแพงกันคลื่นแบบต่างๆ การปักแนวไม้ไฝ่กันคลื่น แนวกระสอบทรายกันคลื่น นั้น พบว่าการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณแนวใกล้โครงสร้างเหล่านั้นลดความรุนแรงลงได้บ้างบในหลายแห่งการกัดเซาะดูเหมือนจะหยุดและดีขึ้นบ้าง
แต่พบว่าการกัดเซาะยังมีความรุนแรงต่อเนื่องโดยเฉพาะในบริเวณพื้นท้องทะเลนอกชายฝั่งออกไป สถานการณ์การกัดเซาะทำให้พื้นท้องทะเลถูกกัดเซาะลึกขึ้น 1-2 เมตรและบางแห่งมีการกัดเซาะชายฝั่งพื้นท้องทะเลลึกมากกว่า 4 เมตร
ปัจจุบันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอยู่ในขั้นวิกฤติรุนแรงมากขึ้นทำให้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศถูกน้ำทะเลกัดเซาะลึกเข้ามาตั้งแต่ 50 เมตรถึงมากกว่า 1 กิโลเมตร ประเทศไทยเสียพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลจากปัญหาการกัดเซาะทั้งสิ้น 79,725 ไร่ทั่วประเทศและทำให้สูญเสียบริเวณพื้นที่ชายหาดโคล่น ชายหาดทรายและสันทรายใต้น้ำอีกประมาณ 227,937 ไร่ทั่วประเทศ
โดย ศ.ดร. ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าสถานการณ์การกัดเซาะประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น จึงเสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบดำเนินการดังต่อไปนี้
1) สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งประเทศมีความรุนแรงมาก ควรบรรจุปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติให้มีการแก้ไขโดยเร่งด่วน และให้ยกประเด็นการกัดเซาะชายฝั่งไว้ในประเด็นปฎิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว 20 ปีต่อไป
2) ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) เร่งการปฎิรูปองค์กรและยกเครื่ององค์ความรู้ด้านการกัดเซาะชายฝั่งทั้งระบบ ให้สามารถเป็นเสาหลักในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบูรณาการในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานอื่นได้
3) ขอให้นักวิชาการและที่ปรึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) ลดการสร้างความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ลดการมุ่งโจมตีหน่วยงานอื่นๆที่มีหน้ารับผิดชอบการแก้ไขปัญหาการกัดเชาะชายฝั่งด้วยกัน อันจะก่อให้เกิดความสับสนของประชาชนในมาตรการของรัฐที่ไม่มีเอกภาพในการแก้ไขปัญหาประเทศทั้งระบบ
4) ขอให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมีแผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศร่วมกันแบบมีเอกภาพ โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องและเชื่อถืออ้างอิงได้ สามารถลดความเสียหายทั้งระยะสั้นและระยะยาวของประเทศได้ต่อไป