นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จับกุมได้เป็นผลจากระบบเฝ้าระวังของ อย.ร่วมกับเครือข่าย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่ากระทบกับความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด อย่างไรก็ตาม ต้องชี้แจงว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ที่เป็นปัญหาจะมี 2 กลุ่มหลักๆ คือ
1.เข้ามาขออนุญาตอย่างถูกต้องกับ อย. แต่ผู้ที่ไม่สุจริตก็จะเอาเลข อย.ที่ได้ไปผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ไม่ผลิตตามสถานที่แจ้งหรือเติมสารหรือลดสารที่ไม่เป็นไปตามสูตรที่แจ้งไว้กับ อย.
2.กลุ่มที่ลักลอบผลิตอยู่แล้ว แอบเปิดโรงงาน วัตถุดิบไม่ได้คุณภาพ ซึ่งขณะนี้มีการหารือร่วมกับสภาอุตสากรรมกลุ่มเครื่องสำอาง กลุ่มเสริมอาหาร และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อหามาตรการร่วมกันในการทำให้ระบบคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็งขึ้น ซึ่งมีหลายข้อเสนอ เช่น เพิ่มโทษทางกฎหมาย การทบทวนการยื่นผ่านระบบออนไลน์หรือ E-Submission เนื่องจากบางส่วนมองว่าทำให้คนไม่สุจริตได้เลข อย.ง่ายในการไปทำสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
นพ.วันชัย กล่าวว่า ในส่วนของ อย .เองจะเพิ่มมาตรการภายใต้หลักการไม่ให้กระทบผู้ประกอบการที่ดี มี 3 เรื่องหลักๆ คือ
1.เพิ่มเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองการยื่นขออนุญาตทางระบบ E-Submission ซึ่งที่ผ่านมาหากยื่นตรงตามหลักเกณฑ์ก็จะออกใบอนุญาตหรือเลข อย.แบบอัตโนมัติ โดยตั้งแต่ ก.ย. 2560 ได้ยกเลิกการให้ทะเบียนอัตโนมัติแล้ว และหลังจากนี้จะเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองอีก ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน เช่น ตั้งชื่อไม่เหมาะสม อ้างสรรพคุณไม่เหมาะสม ก็จะกรองออก และเมื่อมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็จะจับตามองผลิตภัณฑ์นั้นๆ
2.การออกกฎกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ในการกำหนดมาตรฐานสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม ซึ่งจะออกมาบังคับใช้ในช่วง มิ.ย.นี้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาคออกไปตรวจสอบตัวโรงงานทั้งหมด คาดว่าใช้เวลา 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ ในการขึ้นทะเบียนมาตรฐานโรงงานทุกระดับ ทั้งระดับเล็ก เช่น เป็นบ้านคน ซึ่งต้องมีห้องผลิต 2 ห้อง ในการผลิต ชั่ง ผสม บรรจุ การผลิตได้มาตรฐานก็ถืองว่าผ่าน ไปจนถึงระดับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการขอจดแจ้งผลิตเครื่องสำอางก็ต้องขออนุญาตผลิตจากสถานที่ผลิตที่เราขึ้นทะเบียนว่าได้มาตรฐานเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยขจัดสินค้าด้อยคุณภาพออกไปจากตลาด ส่วนอาหารเสริมนั้นมีมาตรฐานสถานที่ผลิตตามกฎหมายอยู่แล้ว ทำให้ก่อนขอเลข อย.ให้ผลิตภัณฑ์ ต้องยื่นตรวจสอบโรงงานผลิตก่อน แต่ก็มักพบปัญหาตอนผลิตจริง บางส่วนจะแอบลอบใส่สารอื่นนอกเหนือจากที่จดแจ้งไว้
3.สร้างเครือข่ายผู้บริโภคในการร่วมตรวจสอบ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่แอบผลิต เนื่องจากเจ้าหน้าที่ อย .เองมีน้อย อย่างเจ้าหน้าที่ออกตรวจเครื่องสำอางของส่วนกลางมีแค่ 60 คน ส่วนของอาหารมีเพียง 8 คน ขณะที่เครื่องสำอางมีในระบบถึง 7 แสนรายการ เสริมอาหารมีในระบบกว่า 3 หมื่นรายการ และคนที่ตั้งใจทำผิดคงไม่ได้มาบอกก่อนว่าจะแอบผลิตหรือตั้งโรงงานตรงไหน จะเจอก็ตอนวางจำหน่ายแล้ว พลังของผู้บริโภค ทั้งประชาชน สื่อมวลชน เพจต่างๆ ก็จะช่วยตรงนี้ได้ โดยแจ้งเบาะแสหรือตรวจสอบเลข อย. ได้ผ่านสายด่วน 1556 ผ่านไลน์ "FDAThai" ผ่านแอปพลิเคชัน "oryor smart application" และเว็บไซต์ อย.
"ทั้งกรณี เมจิกสกิน และ Lyn อย.จะร่วมพนักงานสอบสวนในการทำข้อมูลเพื่อดำเนินคดีสูงสุด ตั้งข้อหาหนักที่สุดเพื่อให้เข็ดหลาบ ก็คือโทษจำคุก นอกจากนี้ จะประสาน กสทช. ในการอำนวยความสะดวกให้ อย.เข้าไปตรวจสอบโฆษณาทุกชิ้น ซึ่งหากพบว่าไม่เหมาะสม กสทช.จะระงับทันที และในอนาคตจ่อขึ้นแบล็กลิสต์ผู้ประกอบการที่ทำผิดซ้ำๆ ไม่ให้ยื่นขอเลข อย.ได้อีก"
นพ.วันชัย กล่าวว่า สำหรับการรีวิวสินค้าของศิลปินดารา ย้ำว่าถือเป็นการโฆษณาชัดเจน คนที่จะรีวิวต้องตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะจะดูแค่ว่ามี อย.อย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากอย่างที่บอกว่ามีบางส่วนแม้จะขอเลข อย.จริง แต่ตอนผลิตไม่ได้ทำตามที่จดแจ้งไว้ ลอบใส่สารอันตรายอื่น
ดังนั้น ขอแนะนำว่า หากได้รับการติดต่อให้มารีวิว ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง ให้ติดต่อมายัง อย.ก่อน โดยอาจมาติดต่อเองหรือต้นสังกัดเข้ามาติดต่อก็ได้ว่า สินค้าตัวนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ และใช้คำพูดตามที่เจ้าของสินค้าส่งมาให้แบบนี้ได้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยป้องกันในการกระทำผิดกฎหมาย เพราะในส่วนของอาหารเสริมจำเป็นที่จะต้องขออนุญาตโฆษณาก่อน ซึ่งการเข้ามาติดต่อว่าจะโฆษณาด้วยคำพูดเช่นนี้ตามเจ้าของสินค้าส่งมา จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการโฆษณาเกินจริง ทั้งอาหารเสริมและเครื่องสำอาง
"การจับกุมผลิตภัณฑ์เมจิกสกินและ Lyn ถือเป็นการทลายสินค้าครั้งใหญ่ในรอบหลายปีของ อย. ซึ่งปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการจัดระเบียบผู้มีชื่อเสียงในสังคมที่จะทำการรีวิว และทำให้ผู้บริโภคสินค้าเกิดความตื่นตัว โดยจะดำเนินการส่งหนังสือเตือนให้ระมัดระวังในการโฆษณาไปยังต้นสังกัดที่มีศิลปินดาราอีกครั้งหนึ่งภายใน พ.ค.นี้ ซึ่ง อย.เคยส่งไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2560 แต่ไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งครั้งนี้จะส่งไปใหม่ เพราะกำลังอยู่ในความสนใจ เชื่อว่าโฆษณาเกินจริงจะหายไป" นพ.วันชัย กล่าว
นพ.วันชัย กล่าว กรณีเสนอกฎหมายเพิ่มโทษ การแก้กฎหมายต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม กฎหมายปัจจุบันมีโทษปรับตั้งแต่ 5 พันบาทถึงแสนบาท จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2-3 ปี สิ่งที่ทำได้เลยคือจะหาข้อมูลและสินค้าที่มีผลกระทบสูง จะทำสำนวนร่วมกับตำรวจตั้งข้อหาสูงสุดที่กฎหมายมีในปัจจุบันให้เข็ดหลาบ โดยเฉพาะกรณีดาราที่รีวิวสินค้าแล้วสินค้านั้นไปทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนการจะสังเกตดาราคนดังในเรื่องของการรีวิวนั้น หากยิ่งรีวิวหลายตัวให้น่าสงสัย โดยเฉพาะเครื่องสำอาง เพราะหนึ่งคนคงไม่มีใครใช้หลายตัว
นพ.วันชัย กล่าวว่า เครื่องหมาย อย.เป็นที่เชื่อถือมานาน ประเทศโดยรอบก็เชื่อถือ แต่จาการที่เศรษฐกิจขยายตัว มีผู้ประกอบการไม่สุจริตมากขึ้นถือโอกาสเอาเครื่องหมาย อย.ไปหลอกลวง เครือข่ายสังคมต้องช่วยกันให้เครื่องหมาย อย.เป็นเครื่องหมายที่มีคุณภาพ เป็นสมบัติสังคมร่วมกัน ไม่ให้เอาไปใช้ในทางที่ผิด ต้องทำให้ปลอมยากมากขึ้น ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมได้หารือว่าจะเข้ามาช่วย อย. ในการทำให้ตรา อย. ปลอมได้ยากที่สุด เพื่อไม่ให้เอาไปใช้หลอกคนอื่น ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เร็วที่สุด
โดยขอให้ประชาชนร่วมกันแจ้ง หากมีการจับกุมและศาลพิจารณาตัดสินคดีแล้วสั่งปรับกี่บาท เงินค่าปรับจะแบ่งเป็น 80% ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งคนแจ้งเบาะแส เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับสินบนนำจับ 1 ใน 4 ของ 80% นี้ ส่วนอีก 20% จะเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง