จากกรณีมีภาพและเอกสารเกี่ยวกับหลุดเกี่ยวกับ‘ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร’ หรือ IO ของกองทัพ และมีข้อมูลว่าทางกองทัพมีการจ้างบริษัทเอกชนทำข้อมูลตอบโต้ข้อมูลในโลกออนไลน์อย่างในทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 พ.ย. 2563)
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ยอมรับในรายการ Talking Thailand ของ Voice TV เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 ว่าตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการทำ “ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร” หรือ IO ย่อมาจาก Information Operation เพื่อเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของฝ่ายรัฐให้ประชาชนคล้อยตาม อีกทั้งตอบโต้ข้อมูลฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
จากเดิมที่ปฏิบัติการในเฟซบุ๊ก โดยการเปิดแฟนเพจหรือเปิดบัญชีส่วนตัวปลอมขึ้น มาเล่นในทวิตเตอร์โดยการกำหนด hashtag ขอกลุ่มคำเพื่อให้ได้รับความนิยมบน Twitter ในตอนนั้น
“วิโรจน์รัฐทำคือการเอาข้อมูลที่ต้องการสื่อสารซ้ำๆ มาตั้งเป็น hashtag เพื่อหวังให้ประชาชนเชื่อ แต่หารู้ไม่โลกทวิตเตอร์คือการตอบโต้ข้อความกันอย่างเสรีทำให้ hashtag นั้นของรัฐบาลได้รับความนิยมชั่วคราวเท่านั้น” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์กล่าวอีกว่า ฝ่ายรัฐยังเปลี่ยนวิธีการเล่นทวิตเตอร์จากการเปิดบัญชีที่มีคนเล่นจริงๆ แล้วสร้างข้อมูลหรือกำหนด hashtag ที่ต้องการมาเป็นการทำงานแบบ twitter broadcast โดยวิธีเปิดบัญชีทวิตเตอร์หลายหมื่นบัญชี แล้วทำให้สั่งการให้บัญชีเหล่านั้นส่งข้อความและ hashtag ที่ต้องการพร้อมกันทันที่
“นี่จึงเป็นเหตุที่ทำไมเราเห็น hashtag ของฝ่ายรัฐปรากฎการณ์พร้อมกันจำนวนมากทุกวันนี้ แต่ชาวทวิตเตอร์ที่มีตัวตนจริงๆ ก็ดูออกมาเป็นการปั่น hashtag ก็มีการตั้ง hashtag ตอบโต้ทันที จึงทำให้ hashtag ฝ่ายรัฐไม่ได้รับความนิยม” วิโรจน์กล่าว
รัฐทำไอโอผิดหลักการคู่มือสงครามสนาม
วิโรจน์ยืนยันว่าปฏิบัติการ “ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร” หรือ IO ของฝ่ายรัฐครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำผิดจาก ‘คู่มือราชการสนาม 100 - 20’ คล้ายกับเป็นหลักการในการทำปฏิบัติสงครามข้อมูลข่าวสาร เช่น สร้างข่าวลวง สร้างข่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ฝ่ายตัวเอง รวมถึงระงับยับยั้ง ขัดขวาง หรือทำลายฝ่ายตรงข้าม หรือ ฝ่ายศัตรู นั้น
อีกทั้งหลักการในคู่มือราชการสนามดังกล่าวนั้นบอกว่า “ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร” ที่ทำกับประชาชนต้องเป็นการเผยแพร่ความจริงเท่านั้น
แต่ที่ฝ่ายรัฐกำลังทำตอนนี้กลับไป ด้อยค่าประชาชน เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน หรือการใช้ข้อมูลเท็จโจมตีฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่แน่ใจว่าคือฝ่ายประชาชนที่กำลังประท้วงรัฐบาลตอนนี้หรือไม่
“หากเป็นจริงแสดงว่าตอนนี้รัฐบาลและกองทัพมองประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้ามแล้ว แล้วยังมีการระบุให้ไอโอส่งข้อความโจมตีตัวบุคคลของฝ่ายผู้ชุมนุมอีกด้วย” วิโรจน์กล่าว
เขากล่าวอีกว่า ในอนาคตรัฐสภาอาจมีการตั้งกระทู้ถามถึงการกระทำแบบนี้ของรัฐบาล เพราะล่าสุดมีภาพหลุดว่าเป็นการประชุม “ปรัชญาการทำไอโอ” และมีภาพทหารเล่นทวิตเตอร์ ว่ามีการใช้งบประมาณแผ่นดินนำไปใช้ในปฏิบัติสงครามข้อมูลข่าวสารกับประชาชนหรือไม่
ไม่ใช่ยุคสงครามเย็นที่จะทำแบบเดิมได้สำเร็จ
สำหรับวิโรจน์หากรัฐบาลและกองทัพกระทำปฏิบัติการไอโอจริง มองว่าก็ไม่ต่างจากยุคสงครามเย็นที่เอาทหารไปปลอมตัวแจกใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อในพื้นที่ต่างๆ หรือให้ทหารไปนั่งในร้านกาแฟแล้วพูดคุยเรื่องที่รัฐต้องการให้ประชาชนรู้ ซึ่งมันทำไม่ได้แล้ว
“ในโลกทวิตเตอร์ประชาชนมักจะตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับความนิยมในทวิตเตอร์ โดยเฉพาะทวิตข้อมูลที่มันเกินจริง ชาวทวิตเตอร์ก็จะตรวจสอบได้ ทำให้ข้อความนั้นไม่น่าเชื่อถือ” วิโรจน์กล่าว
ดังนั้นหากรัฐบาลและกองทัพต้องการปฏิบัติการนี้กับประชาชน ต้องเอาข้อเท็จจริงออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่แค่ภาพ วิดีโอ อินโฟกราฟฟิกข้อมูลสวยแค่นั้น
“อินโฟกราฟฟิกสวยแต่อยู่ในพื้นฐานข้อมูลเท็จ รัฐบาลและกองทัพจะยิ่งซวย” วิโรจน์กล่าว
ประชาชนต้องรู้ทันและตรวจสอบ
วิโรจน์ชวนประชาชนรู้ทันและตรวจสอบไอโอของรัฐบาลและกองทัพว่า เวลาเจอข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือหรือเกินจริง อยากให้ตรวจสอบข้อมูลก่อน เช่น หากเป็นรูปภาพ ก็เอารูปภาพนั้นไปตรวจที่ google image ว่าเป็นรูปเก่าหรือรูปใหม่ เช่น มีการนำรูปเก่าที่ผู้ชุมนุมทางสีกำแพง ซึ่งเมื่อไปตรวจพบว่าเป็นรูปเก่าแล้วนำมาเขียนข้อความใหม่ หรือ หากเป็นข้อมูลก็นำข้อความนั้นไปตรวจสอบที่ google แล้วหาข้อมูลเพิ่มขึ้น แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าเกินจริงหรือไม่อย่างไร หรือดูข้อมูลเดียวกันที่มาจากแหล่งข้อมูลหลากหลาย หรือจากอีกฝ่าย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้กองทัพจะมีการชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเพจ Army Spoke Team เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2563 ว่า กรณีดังกล่าวทางหน่วยงานกองทัพ ไม่ได้มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนไปดำเนินการตามที่มีการกล่าวหาโดยตีความจากเอกสารที่ถูกนำมาเผย
“วัตถุประสงค์ในการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียของกองทัพบก มุ่งเน้นการสื่อสารสร้างการรับรู้อย่างสร้างสรรค์ เท่าทันสถานการณ์ ทางทหารในกองทัพ จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ทันกับสภาพสังคม”
กองทัพชี้แจงต่อว่า สำหรับผังโครงสร้างที่ปรากฎก็เป็นการจัดหน่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อทดลองกระจายข้อมูลเชิงบวกให้กับบัญชีทวิตเตอร์ด้วยแอพพลิเคชั่นดังกล่าว และมีการลงทะเบียนใช้งานอย่างเปิดเผย ระบุตัวตนได้ ส่วนเนื้อหาที่นำลงก็เป็นการประชาสัมพันธ์เชิงบวก กิจกรรมเทิดทูนสถาบัน การสร้างภาพลักษณ์ ภารกิจกองทัพบกและการช่วยเหลือประชาชน
สำหรับวิโรจน์ เท่ากับว่า ตอนนี้กองทัพยอมรับว่ามีการปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารจริง แต่เป็นการปฏิบัติการในด้านดีอย่างเดียว เพราะมีประชาชนตรวจสอบพบว่าแหล่งที่มาของข้อมูลคล้ายๆ กันนั้นมาจากที่มาเดียวกัน เช่น ตรวจสอบว่ามาจาก โดเมน (domain) หรือที่อยู่เว็บไซต์ที่มาจากบริษัทที่รับงานจากภาครัฐเป็นประจำ เป็นต้น
อีกทั้งประกอบมีภาพและข้อความการสั่งการให้กำลังพลในกองทัพปฏิบัติการไอโอ หลุดออกมาในสังคมตอนนี้ ยิ่งทำให้มีความน่าเชื่อถือว่ากองทัพมีการปฏิบัติการ IO โจมตีประชาชนจริง