ไม่พบผลการค้นหา
หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจปี 2563 ไม่ได้แย่กว่าปีนี้ เชื่อส่งออกพลิกเป็นบวก โตร้อยละ 1.8 บนสมมติฐานเงินบาทห้ามแข็งค่าหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แนะรัฐหาทางลดผลกระทบภัยแล้งแต่เนิ่นๆ - หนุนใช้งบรัฐจัดประชุมสัมมนาเมืองรองท่องเที่ยวชุมชน-ทำบาทอ่อนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน-ขอเสียงสนับสนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ระยะหลังจากนี้เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นอย่างคงเส้นคงวา จากการประกันรายได้พืชผลการเกษตร ที่ทำให้รายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยาง ปาล์ม มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 

โดยขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้เกษตรกรขยายตัวกลับมาเป็นบวกแล้ว หลังจากติดลบมานาน แสดงว่าเศรษฐกิจฐานรากเริ่มกลับมาดีขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับความหวังว่า ปี 2563 น่าจะเป็นปีที่ของการกลับมาลงทุนของภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น แม้สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ยังไม่คลี่คลาย สถาบันการเงินยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออยู่ก็ตาม 

แต่ในปี 2563 ยังมีความเสี่ยง โดยยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากภัยแล้งที่จะมีผลทั้งต่อภาคการผลิตและภาคการท่องเที่ยวบริการ ความเสี่ยงจากการผ่านกฎหมายฮ่องกงของรัฐสภาสหรัฐฯ (กฎหมายประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนฮ่องกง' หรือ Hong Kong Human Rights and Democracy Act 2019 ) ที่อาจจะเพิ่มความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงจากเงินบาทที่แข็งค่ามากและเร็วกว่าสกุลเงินอื่นๆ โดยคาดว่าปีหน้า ในกรณีที่แย่ที่สุดเงินบาทมีโอกาสหลุดไปอยู่ที่ 29.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติด้วย

สำหรับเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และทิศทางปี 2563 ยังมีปัจจัยบวก จากเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่จะเติบโตได้จากภาคการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ การลงทุนของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (ดอกเบี้ยต่ำ) ต่อไป ซึ่งหากสัญญาณเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 1/2563 หลังจากปี 2562 ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว 2 ครั้ง และทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโบบายอยู่ที่ร้อยละ 1.25 

"ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 2/2563 หากสัญญาณเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ขณะที่สมมติฐานค่าเงินบาทในกรณีฐานปีหน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 30.00- 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าในกรณีที่แย่โอกาสหลุดลงต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปอยู่ที่ 29.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้" นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประมาณการเศรษฐกิจปีหน้าว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.0 และ 3.4 ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ และน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 2/2563 เป็นต้นไป ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2562 จีดีพีขยายตัวร้อยละ 2.5-2.6 ปี 2563 ร้อยละ 3.1 การส่งออกปีนี้ติดลบร้อยละ 2.1 ปีหน้าพลิกกลับมาเป็นบวกเติบโตร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอ่อนๆ และขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่หลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ 

อย่างไรก็ดี หอการค้า 5 ภาคมีข้อเสนอสำหรับการผลักดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นหลักประกันว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ในปี 2563 ดังนี้

1) การเพิ่มราคาพืชผลการเกษตร โดยภาครัฐต้องรับซื้อสินค้าเกษตรไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น พาราซอยซีเมนต์ เป็นต้น

2) ส่งเสริมหน่วยงานรัฐจัดประชุมสัมมนาในจังหวัดเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ผ่านการใช้งบประมาณประจำปีเพื่อกระจายรายได้ในภูมิภาค

3) เนื่องจากปี 2563 ยังมีความเสี่ยงภัยแล้งอยู่ ดังนั้นต้องจัดการวางแผนตั้งแต่ต้นปี เพื่อให้มีน้ำเพียงพอและเหมาะสมกับการต้องการใช้น้ำทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการในภูมิภาคต่างๆ เพื่อพร้อมรองรับและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วม พร้อมการจ้างแรงงานท้องถิ่นขุดบ่อน้ำเพิ่ม

4) ให้รัฐสนับสนุนร่างกฎหมายดูแลอากาศสะอาด และ พ.ร.บ. อากาศสะอาด (Clean Air Act) ซึ่งหอการค้าภูมิภาคได้ลงชื่อเสนอกฎหมายผ่านวุฒิสภา

5) ผลักดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก การส่งออก และท่องเที่ยวได้

"ปี 2563 ภาพเศรษฐกิจจะไม่ได้แย่กว่าปีนี้ (2562)" นายธนวรรธน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :