วันที่ 27 มีนาคม 2567 พรรณิการ์ วานิช กรรมการคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ กระบวนการเลือก สว. : ที่มา การทำงาน และความสำคัญ โดยมี สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ร่วมพูดคุย ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระหว่างการเสวนา พรรณิการ์ ตั้งคำถามว่า คนในห้องประชุมเกือบทั้งหมดนั้นไม่สามารถลงเลือกตั้งสว.ได้ เนื่องจากคนจำนวนมากไม่มีอายุไม่ถึง 40 ปี พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งสว.ที่กำลังจะมาถึง มีลักษณะที่ไม่ควรถูกเรียกว่ากการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นระบบที่ผู้สมัครต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาท และต้องมีคุณสมบัติอีกหลายประการเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบการเลือกได้ ซึ่งทำให้คนจำนวนน้อยสามารถเข้าไปลงสมัครได้
โดยพรรณิการ์ วิพากษ์วิจารณ์ถึงการเลือกตั้ง สว. ที่จะเกิดขึ้นว่า เป็นระบบที่ต้องการหาความชอบธรรม แม้ว่าจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเกิดแนวคิดว่าสรรหาตามกลุ่มอาชีพให้โอกาสกับกลุ่มสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ แต่การแบ่งกลุ่มตามกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มนั้นไม่ชอบธรรมและซับซ้อน เต็มไปด้วยเช่นช่องโหว่ พร้อมกับยกตัวอย่าง เช่น สว.กลุ่มนักเขียนกับสว.กลุ่มสื่อมวลชน ถูกรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน สายสิ่งแวดล้อมก้บอสังหาริมทรัพย์ อยู่กลุ่มเดียวกัน พร้อมตั้งคำถามต่อว่า และการเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงประเทศ จะหาคน 20 กลุ่มนี้ได้ในทุกอำเภอจริงหรือไม่ จะหาคนทำนาที่ไหนในเขตเมืองกรุงเทพชั้นใน
.“ท่านเคยสงสัยไหมคะว่าในอำเภออมก๋อยจะมีผู้ประกอบอาชีพนวัตกรรมเทคโนโลยีอยู่สักกี่คน ในทางตรงกันข้ามเขตราชเทวีจะมีชาวนาไหมคะ ยังไม่นับชาวประมง จากอำเภอจอมทอง (เชียงใหม่) ยังไงดีคะ ขณะเดียวกัน สายบุรี (ปัตตานี) จะมีคนทำอุตสาหกรรมหรือการเงินสักกี่คน” พรรณิการ์ยกตัวอย่าง
.พร้อมกันนี้ พรรณิการ์กล่าวโดยสรุปว่า สว. คือองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นมาแต่ต้นเพื่อคัดคานอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนฯ โดยที่ตัวเองไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่พยายามจะถูกย้อมและพยายามจะสร้างหลักการให้ตัวเองเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือขึ้นมา และมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จหากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้ระบบที่ซับซ้อนเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งที่ผ่านมา ที่ชนชั้นนำพยายามไม่ประชาสัมพันธ์ เพราะผู้มีอำนาจรู้ว่ายิ่งประชาสัมพันธ์ คนมาลงคะแนนมาก คะแนนจัดตั้งจะแพ้ ฉะนั้นประชาชนจึงควรร่วมมือกันทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ในขณะที่เขาพยายามปิดกั้นการรับรู้ การเข้าถึงการเลือกตั้ง เราก็รณรงค์ให้ประชาชนไปลงทะเบียนเพื่อเลือกบอร์ดประกันสังคม สุดท้ายแล้วมันก็เห็นได้ชัดว่า เมื่อประชาชนจัดตั้งกันเอง ตื่นตัวแล้ว ประชาชนคือผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลง นี่คือความสำเร็จของการคิดมุมกลับกับผู้มีอำนาจที่ออกแบบระบบกีดกันประชาชน
“ในการเลือก สว. ระหว่างเราคนธรรมดาประสบการณ์เท่ากันกับผู้มีอำนาจ ประสบการณ์เท่ากับ 0 เหมือนกัน เพราะเพิ่งจะเลือกระบบนี้กันครั้งแรก ก็ลองมาวัดการจัดตั้งค่ะว่าระหว่างประชาชนที่ต่างคนต่างสมัครต่างคนต่างไปลงคะแนนเลือกกันเอง กับคนของผู้มีอำนาจ ใครชนะ ถ้าประชาชนชนะ ครั้งนี้เราจะได้สว.ของประชาชน ที่มีอำนาจในการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ที่เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้งและวิกฤตในการเมืองไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาล้วนผ่านมือของ สว. เพราะฉะนั้น ถ้าแพ้ไม่เป็นไร เสมอตัว แต่ถ้าชนะขึ้นมา ประเทศไทยไม่มีวันเหมือนเดิม ไม่ใช่แค่สภาล่างอีกต่อไปแต่รวมถึงที่วุฒิสภาด้วย เพราะฉะนั้นเป็นสมรภูมิที่พวกเราไม่มีอะไรจะเสีย เสี่ยงกันดูสักตั้งหนึ่งแล้วก็ลุ้นกันว่าการจัดตั้งกันเองของประชาชนจะพาเราไปได้ไกลถึงไหน” พรรณิการ์กล่าว