ผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ นอกจากจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและการทำงานแล้ว ข้อมูลจากวิทยาลัยทางเดินอาหารของสหรัฐอเมริกา ยังพบว่าผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น 1.78 เท่าและเนื้องอกในลำไส้ 2.70เท่า
อาการท้องผูกนี้ เกิดได้หลายสาเหตุ แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ 1.ความผิดปกติทางกายภาพ อาจเกิดจากความผิดปกติทางสรีระหรือโรคของสำไส้ รูทวาร ไขสันหลัง ความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการถ่าย การอุดตันของสำไส้ มะเร็งลำไส้ หรือพบร่วมกับโรคของระบบอื่น เช่น ภาวะการมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายความกังวล เป็นต้น
2.ท้องผูกโดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพ เป็นอาการท้องผูกที่พบในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรค สาเหตุอาจเกิดได้จาก อุปนิสัยการขับถ่าย ความเป็นอยู่ หรือจากสิ่งแวดล้อม อารมณ์และจิตใจก็ได้ เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ดื่มน้ำน้อย การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น หรือแม้แต่การกลั้นอุจจาระเนื่องจากความรีบร้อนในการทำงาน ทำให้ละเลยต่อการปวดถ่าย
สำหรับ การรักษานั้น หากอาการท้องผูกไม่รุนแรงมากนัก ไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา แต่ให้รับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น เช่น ผักและผลไม้ต่างๆ รวมถึงการดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5 ถึง 2.0 ลิตรต่อวัน และที่สำคัญควรหาเวลาออกกำลังกาย บริหารร่างกายส่วนที่ให้ผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อหน้าท้อง จะช่วยทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
ส่วนใครที่ลองปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งมีหลายประเภทด้วยกัน ได้แก่ เส้นใยหรือไฟเบอร์ ยาระบาย ยาระบายกลุ่มกระตุ้น ยาระบายกลุ่มออสโมซิส ยาระบายกลุ่มเกลือ ยาเหน็บทวารและการสวนอุจจาระ
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดยาและการเกิดกลุ่มอาการท้องผูกสลับท้องเสีย (Irritable Bowel Syndrome) ซึ่งจะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ ลดลงมากกว่าปกติ เยื่อเมือกบุผนังลำไส้เหี่ยวผิดปกติ กล้ามเนื้อใต้เยื่อบุผิวลำไส้หนามากขึ้น ปมประสาทเสื่อม และเกิดการสูญเสียโปรตีนทางลำไส้ได้
ทั้งนี้ หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้องร่วมด้วย มีเลือดออกปนกับอุจจาระ เป็นริดสีดวงทวารหนักระยะอักเสบรุนแรง ใช้ยาระบายนานกว่า 7 วัน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรรีบไปพบแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน , วารสารสาธารณสุขศาสตร์ ปีที่ 45 ฉบับที่2 , หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา