ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ เปิดรายงาน 'ถอดรหัสผู้เสียภาษีไทย ใครได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐ' พบผู้เสียภาษีร้อยละ 72 ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการช็อปช่วยชาติ พร้อมเสนอให้รัฐปรับรูปแบบการใช้สิทธิ์หักค่าลดหย่อนภาษีใหม่ ลดเอื้อประโยชน์คนรวย

นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากงานวิจัย พบว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น ช็อปช่วยชาติ , การซื้อกองทุน LTF / RMF และการบริจาคต่างๆ คือ กลุ่มคนรวย หรือ ผู้มีรายได้สูงที่จ่ายภาษีสูงสุด

เฉพาะมาตรการช็อปช่วยชาติ พบว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีสูงสุดร้อยละ 20 จากมาตรการนี้ มีเพียงร้อยละ 7 ของผู้ที่ยื่นแบบเสียภาษีทั้งหมด 11 ล้านคน ส่วนอีกร้อยละ 72 ได้ลดหย่อนภาษีน้อยกว่าร้อยละ 20 หรืออาจไม่ได้เลย และเห็นว่ามาตรการนี้ไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้เพิ่มกำลังซื้อใหม่ แต่ดึงกำลังซื้อในอนาคตมาใช้  

พร้อมระบุ การให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้รัฐเก็บรายได้ภาษีลดลง แต่มีรายจ่ายภาษีสูงขึ้น 110,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 ของจีดีพี โดยเฉพาะการหักลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับการออมและการลงทุน มีขนาดรวมกันถึง 50,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของรายจ่ายภาษีทั้งหมด กลุ่มที่ได้ประโยชน์มากสุด คือ กลุ่มคนรวยหรือผู้มีรายได้สูงที่จ่ายภาษีสูงสุด ซึ่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของผู้เสียภาษีทั้งหมด  

ขณะที่กลุ่มคนชั้นกลาง ได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนการซื้อประกันชีวิตและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเสนอภาครัฐ ปรับรูปแบบการใช้สิทธิ์หักค่าลดหย่อนภาษีใหม่ มาเป็นการเครดิตภาษีคืนในอัตราที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างกลุ่มคนรวยกับกลุ่มคนชั้นกลาง และกระตุ้นการออมในกลุ่มคนชั้นกลาง ช่วยลดต้นทุนรายจ่ายภาษีของรัฐบาลสำหรับกองทุน LTF และ RMF จาก 13,000 ล้านบาท เหลือ 8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศพัฒนาเเล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ใช้ในปัจจุบัน  

งานวิจัยดังกล่าว ใช้ข้อมูลสุ่มจากผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรปี 2555 ร้อยละ 0.3 ของผู้ที่ยื่นแบบเสียภาษี 11 ล้านคน แต่มีผู้เสียภาษีจริงเพียง 4 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 20 พบว่า อัตราการเสียภาษีเฉลี่ยของคนไทย อยู่ที่ร้อยละ 4.7 ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ