เฟซบุ๊กเพจของวัรตานี (Wartani) สื่อท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้ รายงานว่านายไอมาน หะเด็ง ประธานเครือข่ายผดุงธรรม หรือ JOP ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคม ถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยงานควบคุมตัว เมื่อเวลาประมาณ 15:30 น. วันนี้ (23 ก.พ.) เพื่อไปที่ฐานปฏิบัติการตือเบาะ จ.ยะลา โดยไม่ทราบว่าถูกควบคุมตัวด้วยสาเหตุใด
เพจ 'วัรตานี' ระบุว่านายไอมานเคยเป็นอดีตจำเลยในคดีความมั่นคง เเละได้สู้คดีจนศาลได้ยกฟ้องได้รับความบริสุทธิ์ หลังจากได้รับอิสรภาพ ได้รวมตัวกันตั้งเครือข่ายผดุงธรรม เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฏหมายในคดีความมั่นคง เเละได้ช่วยให้ความรู้เรื่องกฏหมายให้กับชาวบ้าน
ส่วนการถูกคุมตัวครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามในภาคประชาสังคมว่าการคุกคามภาคประชาสังคมในครั้งนี้รัฐทำถูกเเล้วหรือไม่
นายอายุบ เจ๊ะนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ครอบครัวของนายไอมานตามไปที่ฐานปฏิบัติการตือเบาะ หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 16 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา แต่ไม่พบนายไอมาน จึงได้ประสานงานกับศูนย์ทนายความในพื้นที่เพื่อให้ช่วยติดตามหาตัวนายไอมานต่อไป
อย่างไรก็ตาม พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องการควบคุมตัวบุคคลในพื้นที่ และไม่ทราบว่านายไอมานเป็นใคร แต่จะดำเนินการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ในฐานปฏิบัติการที่ถูกกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ยะลาเป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยได้ 7 วัน โดยไม่มีการตั้งข้อหา แต่การควบคุมตัวจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขว่าเป็นการสอบถาม และตามความจำเป็นของทางราชการทหาร
ขณะที่ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระบุตรงกันว่า การประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดการจับกุมและควบคุมตัวพลเรือนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงเป็นจำนวนมาก และในหลายกรณีเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีการใช้กฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด กองทัพไทยได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญาต่อนายอิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ซึ่งเปิดเผยในรายการ 'นโยบาย by ประชาชน' ช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ว่าตนได้ถูกทหารในจังหวัดชายแดนใต้ซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวของทหารเมื่อปี 2551 และองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพไทยถอนฟ้องนายอิสมาแอเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา
อ่านเพิ่มเติม: