นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณี บก. ปอท. ออกหมายเรียกนายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่ถูก คสช. กล่าวหาจากการพูดในงานเสวนา ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ค่อนข้างประหลาดใจที่คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ถูกหมายเรียกอีกครั้ง โดยเมื่อสอบถามจากรายละเอียดจากสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอบอกได้เลยว่าเรื่องนี้เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักการ เพราะเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่าการจัดงานเสวนา "แก้ปัญหาคอรัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า" ซึ่งเป็นหัวข้อเดียวที่ใช้มาตลอดเกือบ 2 ปี รวม 38 ครั้งแล้ว และจากหัวข้อดังกล่าวประชาชนต่างชื่นชอบและชื่นชมที่ได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงและรายงานการตรวจสอบการทุจริต จากคณะกรรมการญาติวีรชนฯ และคณะตรวจสอบภาคประชาชน ซึ่งไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นหัวข้ออื่น
ประธานคณะกรรมการญาติวีรชน กล่าวว่า อาจจะมีบางครั้งในอดีตที่ คสช. ไม่เข้าใจ และเคยมีการเข้ามาแทรกแซง สร้างความวุ่นวาย กับการเสวนาบ้าง แต่ต่อมาเข้าใจดีอย่างถ่องแท้ว่าการเสวนาดังกล่าวเป็นการให้ความคิดเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นหลักไม่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง เป็นการให้ข้อมูลในทุกมิติอย่างรอบด้าน อีกทั้งยกเว้นและเสียสละที่จะไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียของพวกเราในปี 35 โดยเราต้องการเรียกร้องต่อนักการเมืองของทุกพรรคการเมือง ที่เป็นนักต่อสู้ของทุกเสื้อสีและทุกฝ่าย ให้คำนึงถึงคำสั่งสอน ของพ่อหลวง ร.9 มาตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันของปวงชนชาวไทย ที่ประชาชนต่างแซ่สร้องสรรเสริญในพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทยทั่วประเทศดังที่ทรงได้รับสั่งให้ประชาชนจงรักสามัคคีและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน
นายอดุลย์ กล่าวว่า วิทยากรทุกคนที่ขึ้นเวทีเสวนาของคณะกรรมการญาติวีรชนฯ นอกจากจะประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบการทุจริตและการประพฤติมิชอบแล้ว บางส่วนอาจจะมาจากพรรคการเมือง ซึ่งต้องรับเงื่อนไขและกฎกติกาที่ต้องไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคการเมืองใดโดยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง และต้องไม่ปลุกระดมไล่รัฐบาลซึ่งทุกฝ่ายก็ได้ทำตามหลักการนี้มาตลอด ทั้งนี้เพื่อให้ตระหนักว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กองทัพใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร
"ปัจจุบันกลไกการตรวจสอบภาครัฐไร้ประสิทธิภาพ ภาคประชาชนจึงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น การเสวนาตรวจสอบเพื่อสะกัดการคอร์รัปชั่นจึงเป็นผลดีต่อรัฐบาลเองด้วย และก็เพื่อให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ เป็นการกระทำที่ขาดการไตร่ตรอง ไม่รอบคอบ คณะกรรมการตรวจสอบภาคประชาชน ยืนยันว่าหากยังมีการดำเนินคดีกับวิทยากรดังกล่าว พวกเราก็คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องดำเนินการด้วยมาตรการที่เหมาะต่อไป จึงขอฝากไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เป็นผู้ใหญ่ของคณะกรรมการญาติวีรชน 35 กรุณาสั่งการให้แก้ไขยกเลิกการฟ้องร้องทุกอย่างให้เรียบร้อย อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกเลย" นายอดุลย์ กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวว่า อย่าได้ดูถูกหรือดูแคลนภาคประชาชนอย่างเด็ดขาดและหากย้อนอดีตจะพบว่า กว่า 10 ปีที่ผ่านมาการย้ายพรรค ย้ายค่ายการดูด ส.ส. การซื้อพรรคการเมือง เกิดขึ้นตลอดเวลาจนประชาชนชินชาไปแล้ว แต่อยากให้ทำอย่างถูกทำนองคลองธรรม อย่าใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องตัวเองจนประชาชนหมดความอดทน ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก