สำนักข่าว AP เปิดเผยรายงานการสืบสวนกรณีสังหารหมู่โรฮิงญา ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากยะไข่ และมีหลักฐานเป็นวีดีโอและภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือของผู้รอดชีวิต โดยพบว่ามีหลุมศพ 5 แห่งในหมู่บ้านกูดาร์ปยิน รัฐยะไข่ เป็นที่ฝังศพชาวโรฮิงญาประมาณ 400 ราย
ภาพถ่ายดาวเทียมหมู่บ้านกูดาร์ปยิน เปรียบเทียบก่อนและหลังการโจมตี
จากการสอบถามผู้รอดชีวิต พบว่าทหารบุกเขาไปในหมู่บ้านขณะที่คนในหมู่บ้านกำลังเล่นกีฬากันอยู่ ก่อนเปิดฉากกราดยิงประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ชายคนหนึ่งให้การว่าเขาพบเพื่อนของตนเอง 6 รายในหลุมศพหมู่ หลังจากเหตุการณ์ยุติแล้ว โดยศพถูกฝังไว้อย่างตื้นๆในแอ่ง เทราดด้วยกรดเพื่อทำลายหน้าตาของผู้เสียชีวิต ป้องกันการตรวจสอบอัตลักษณ์ เหตุที่เขาจำได้ว่าเป็นศพเพื่อน เพราะสังเกตจากสีกางเกงที่ใส่เท่านั้น ส่วนสาเหตุที่พบหลุมศพดังกล่าว เกิดจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ หน้าดินถูกชะล้างออกไป ศพจึงปรากฏออกมาให้เห็น ทำให้คนในบริเวณใกล้เคียงถ่ายภาพไว้ได้ และนำข้อมูลไปบอกกับทาง AP
ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาไม่เคยยอมรับว่ามีการสังหารหมู่เช่นที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านกูดาร์ปยิน และยอมรับว่ามีหลุมศพหมู่เพียงแห่งเดียว เป็นที่ฝังศพ "ผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา" เพียง 10 ราย ซึ่งรัฐบาลยอมรับว่าทหารพม่าเป็นผู้ลงมือสังหารคนกลุ่มนี้ และจะมีการสอบสวนเอาผิดต่อไปภายในกองทัพ
โฆษกสหประชาชาติออกแถลงการณ์ทันทีหลังการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดจาก AP โดยระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นน่ากังวลอย่างมาก และเรียกร้องให้รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ยอมให้ผู้แทนสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในยะไข่ ขณะที่อียางฮี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติที่เพิ่งเดินทางเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ แต่กลับถูกสั่งห้ามเข้าเมียนมาอีก เนื่องจากรัฐบาลกล่าวหาว่าเธอมีอคติและไม่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลเมียนมาอ้างว่าเป็นปฏิบัติการทางทหาร แท้จริงแล้วเป็นการควบคุม กดขี่ คุกคามกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในประเทศ พร้อมทั้งยอมรับว่าแม้เธอไม่ได้รู้จักหมู่บ้านกูดาร์ปยิน ที่พบหลุมศพหมู่แห่งใหม่ แต่การมีหลุมศพหมู่กระจายในหมู่บ้านโรฮิงญา เป็นรูปแบบที่พบได้ทั่วไป และเธอได้รับฟังจากชาวโรฮิงญาในพื้นที่จำนวนมากถึงเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ โดยชายคนหนึ่งบอกกับเธอว่าเขาฝังศพเพื่อนร่วมหมู่บ้านไปกว่า 430 ศพ ก่อนจะหลบหนีออกจากเมือง
อียางฮีย้ำว่ามีคนจำนวนมากส่งรายชื่อผู้ที่ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมา ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ต้องการการตรวจสอบ และแสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงกรณีสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในยะไข่
การค้นพบหลุมศพหมู่ครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลเมียนมาและบังกลาเทศ กำลังเริ่มกระบวนการพิสูจน์สัญชาติผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเพื่อส่งกลับประเทศ โดยมีเป้าหมายการส่งชาวโรฮิงญากลับเมียนมากว่า 160,000 คนใน 2 ปี ท่ามกลางการวิจารณ์จากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ว่าการส่งกลับทำให้ชาวโรฮิงญาเสี่ยงกับการถูกคุกคามอีก และเท่ากับเป็นการย้ายผู้ลี้ภัยจากค่ายในบังกลาเทศไปยังค่ายที่เมียนมาเท่านั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ขณะที่ความรุนแรงในพื้นที่ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข