ไม่พบผลการค้นหา
หลายประเทศทั่วโลกเปิดศักราชใหม่ด้วยการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาทางสังคมและการเมืองต่างๆ รวมถึงการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิว ระบบทุนนิยม และการประท้วงคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

เพียงแค่ 1 เดือนหลังจากการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ 2018 หลายประเทศมีเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ๆ เกิดขึ้น โดยชนวนเหตุส่วนใหญ่อยู่ที่ความไม่พอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาค่าครองชีพ จนนำไปสู่การเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งหมด 7 เหตุการณ์ใน 7ประเทศ ทั่วโลก ได้แก่

อิหร่าน

การประท้วงที่ยืดเยื้อข้ามปีเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2560 ในเมืองมัชฮาด และการประท้วงขยายไปยังเมืองอื่นๆทั่วประเทศ รวมไปถึงกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ชนวนของการประท้วงเริ่มด้วยความไม่พอใจในเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงเกินจริง อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะลุกลามไปยังเรื่องของการประท้วงต่อต้านคอร์รัปชั่น และเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่อิหร่านเข้าไปเกี่ยวข้องซึ่งก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล การประท้วงครั้งนี้ นับเป็นการประท้วงครั้งที่ใหญ่ที่สุดในอิหร่านหลังจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและผู้นำทางศาสนาเมื่อปี 2552

สภาการต่อต้านแห่งชาติอิหร่าน (NCRI) ประเมินว่า การประท้วงที่ยาวนานมามากกว่า 1 เดือน ทำให้มีผู้ถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 8,000 คน และมีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน และมีการทรมานผู้ที่ถูกจับกุมจนเสียชีวิต จำนวน 5 คน

อย่างไรก็ตาม การประท้วงในอิหร่านยังคงดำเนินต่อไป และมีการจับกุมผู้ประท้วงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และข้อเรียกร้องได้ขยายวงกว้างออกไปจนนำไปสู่การเรียกร้องให้โค่นล้มผู้นำสูงสุด อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี และผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเรียกร้องให้อิหร่านกลับมาปกครองในระบบราชวงศ์อีกครั้ง

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้เพิ่มมาตรการตอบโต้อิหร่าน โดยมีการขึ้นบัญชีดำบุคคลสำคัญ 14 คนที่ใกล้ชิดกับอยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี โดยระบุว่ากลุ่มคนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการทรมานผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม ซึ่งผู้มีตำแหน่งสูงสุดที่ถูกขึ้นบัญชีดำ คือ อยาตุลเลาะห์ ซาเด็ก ลาริจานี อัยการสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

000_VH7I9.jpg
การชุมนุมของผู้ประท่วงชาวอิหร่านที่เรียกร้องให้ผู้นำสูงสุดลาออกในกรุงเตหะราน

ตูนิเซีย

การประท้วงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2561 หลังจากที่รัฐบาลตูนิเซียประกาศแผนงบประมาณปี 2561 ที่จะขึ้นอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและประกันสังคม รวมไปถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด ผู้ประท้วงหลายร้อยคนจึงได้ออกมาชุมนุมกันหน้าสำนักงานสหภาพแรงงานตูนิเซีย (UGTT union) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนงบประมาณประจำปีที่ได้ประกาศมาก่อนหน้านี้

การชุมนุมประท้วงได้รุนแรงขึ้นเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ในกรุงตูนิส ผู้ประท้วงบางกลุ่มได้เผารถตำรวจและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ในเมืองทาลา กลุ่มผู้ประท้วงได้เผาสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และข่มขู่ตำรวจจนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องล่าถอยออกไป ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงมหาดไทยของตูนิเซียกล่าวว่า เหตุการณ์จลาจลในเมืองต่างๆ ทำให้มีตำรวจบาดเจ็บ 97 คน และรถตำรวจถูกเผา 88 คัน และตอนนี้ได้มีการจับตัวผู้ประท้วงไว้ทั้งหมด 803 คน ที่สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ประท้วงที่ถูกจับนั้นกว่า 85% มีอายุตั้งแต่ 15 - 30 ปี

000_WM074.jpg

ยูเซฟ เชอริฟ นักวิเคราะห์การเมืองชาวตูนิเซียกล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีร่าว่า การประท้วงในตูนิเซียจะดำเนินต่อไป เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นชนวนในครั้งนี้ มีแนวโน้มว่ารัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในเร็วๆ นี้

ตูนีเซียประสบกับปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจมายาวนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่การครองอำนาจของอดีตประธานาธิบดีเบน อาลี การประท้วงถูกจุดชนวนขึ้นจากปัญหาการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น ปัจจุบันอัตราการว่างงานในตูนีเซียสูงกว่า 35% ตามรายงานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ

นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่งกล่าวว่า ที่ผ่านมา "เราประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกในการชุมนุม แต่พวกเรายังคงมองหาการจ้างงานและศักดิ์ศรี"


000_WL5XO.jpg

กรีซ

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2561 ชาวกรีซประมาณ 2 หมื่นคนรวมตัวกันหน้ารัฐสภา เพื่อประท้วงนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งพยายามผลักดันการมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่ ตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้ต่างชาติที่กำหนดไว้สำหรับการช่วยเหลือทางการเงินเพิ่ม เป็นจำนวน 6,500 ล้านยูโร โดยมาตราการใหม่นี้จะทำให้การหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานทำได้ยากขึ้น

มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่นี้กำหนดให้มีขั้นตอนทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการยึดทรัพย์สินที่จำนองไว้ในกรณีที่มีการค้างชำระ จัดโครงสร้างสวัสดิการและเงินบำนาญใหม่ ซึ่งนายอเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ จากพรรคที่มีแนวคิดซ้ายจัด ระบุว่า การผ่านร่างกฎหมายนี้สำคัญต่อการเร่งให้กรีซพ้นจากวิกฤตทางการเงิน และประกาศว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย

000_WQ4AV.jpg

กลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกร้องให้รัฐบาลกรีกยกเลิกมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่

นอกจากการชุมนุมคัดค้านมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่แล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสเตรทไทม์รายงานว่า ชาวกรีซมากกว่า 50,000 คน ต่างชุมนุมเรียกร้องในเมืองเทสซาโลนิกิ ภูมิภาคมาซิโดเนีย ทางเหนือของกรีซ เพื่อประท้วงสาธารณรัฐมาซิโดเนีย โดยประชาชนฝ่ายขวาจัดในกรีซระบุว่า มาซิโดเนียเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมกรีกโบราณ และไม่ต้องการให้สาธารณรัฐมาซิโดเนียใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อประเทศ ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวเป็นเรื่องยืดเยื้อมานานกว่า 26 ปี นับตั้งแต่มาซิโดเนียประกาศเอกราชเมื่อปี 2534

การชุมนุมในครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่าล้านคน หลังจากที่รัฐบาลท้องถิ่นประกาศสนับสนุนการเรียกร้องของกลุ่มขวาจัดชาตินิยมในภูมิภาค และทูตพิเศษสหประชาชาติได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อหาทางแก้ปัญหาพิพาทระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

000_XC0LL.jpg

กลุ่มประชาชนฝ่ายขวาที่เรียกร้องการใช้ชื่อ 'มาซิโดเนีย'

แอฟริกาใต้

หลังจากเอช แอนด์ เอ็ม แบรนด์แฟชั่นค้าปลีกยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดน โพสต์ภาพนายแบบเด็กผิวดำใส่เสื้อยืดสกรีนคำว่า 'ลิงสุดเจ๋งในผืนป่า (Coolest Monkey in the Jungle)' พร้อมสีหน้าโกรธนิดๆ ลงในโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ลุกลามไปทั่วโลก ในประเด็นการโฆษณาเหยียดเชื้อชาติและสีผิว

โดยเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2561 กลุ่มนักสู้เพื่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom Fighters – EFF) ซึ่งเป็นแกนนำประท้วง พร้อมด้วยประชาชนที่ไม่พอใจกับโฆษณาดังกล่าว ตัดสินใจบุกเข้ารื้อทำลายข้าวของภายในร้านเอช แอนด์ เอ็ม 6 สาขาในเมืองโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยผู้ประท้วงทุกคนพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อผ้าสีแดง และบังคับให้ร้านค้าในย่านแซนด์ตัน เมนลีน พาร์ค และเดอะ อีสต์ แรนด์ มอลล์ ปิดกิจการ


HandM.jpg

ขณะที่เอช แอนด์ เอ็ม ตัดสินใจปลดภาพต้นตอของปัญหาออก พร้อมประกาศขอโทษผ่านทางทวิตเตอร์ และโพสต์แถลงการณ์บนเว็บไซต์ว่า ทางเอช แอนด์ เอ็มเสียใจอย่างสุดซึ้งกับสิ่งที่ทำผิดพลาดไป และเข้าใจในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของร้านค้าในแอฟริกาใต้

สหรัฐอเมริกา

ขบวนการ Women's March ซึ่งเคยแสดงพลังต่อต้านการสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2560 ได้รวมตัวเดินขบวนในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2561 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 1 ปีพิธีสาบานตอนของนายทรัมป์

ขบวนการดังกล่าวได้พิสูจน์ตัวเองว่าไม่ใช่การรวมกลุ่มตามกระแสนิยมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่สามารถหล่อเลี้ยงความเคลื่อนไหวมาได้ตลอดทั้งปี เพราะในวันเสาร์ที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา Women's March จัดการประท้วงใหญ่ที่คึกคักได้อีกครั้งในเมืองใหญ่อย่างนครนิวยอร์ก ลอสแองเจลิส และกรุงวอชิงตัน ไปจนถึงในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของรีพับลิกันอย่างมลรัฐฟลอริดาและเท็กซัส รวมถึงเมืองเล็กอื่นๆ ในสหรัฐฯ และทั่วโลกอีกหลายร้อยเมือง

AP18020743494655.jpg

การประท้วงใหญ่ที่สุดจัดขึ้นที่นครลอสแองเจลิส มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมกว่า 500,000 คน ส่วนในนครนิวยอร์ก ก็มีผู้ชุมนุมกว่า 120,000 คน ในกรุงวอชิงตัน ผู้ชุมนุมมีจำนวนกว่า 100,000 คน โดยคนในวงการบันเทิงฮอลลีวูดต่างขึ้นปราศรัยด้วย เช่น นาตาลี พอร์ทแมน สการ์เล็ต โจแฮนสัน และวิโอลา เดวิส ซึ่งนักแสดงเหล่านี้สวมเสื้อ Time's Up ขึ้นเวทีด้วย โดย Time's Up เป็นโครงการระดมทุนของคนดังในฮอลลีวูด เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามทางเพศในการสู้คดี ซึ่งนายทรัมป์เองก็เคยถูกกล่าวหาว่าใช้วาจาดูหมิ่นและลวนลามผู้หญิงมาก่อน

AP18020796207333.jpg

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ทวีตข้อความตอบโต้การเดินขบวนต่อต้านเขาในครั้งนี้ โดยกล่าวว่ารัฐบาลของเขามีความคืบหน้ามากมาย และตอนนี้อากาศกำลังดี จึงเป็นช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบสำหรับพวกผู้หญิงที่จะเดินขบวน ขอให้ทุกคนออกมาร่วมเฉลิมฉลองหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราว่างงานของผู้หญิงที่ต่ำที่สุดในรอบ 18 ปี นอกจากนี้ยังมีการลดภาษี การปราบปราม IS อาชญากรรมในประเทศลดลง และตลาดหุ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย

ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์

ขณะที่การประชุม World Economic Forum ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค. 61 กำลังดำเนินไป ผู้ประท้วงหลายสิบคนเดินขบวนในย่านใจกลางเมืองดาวอส ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ

ผู้ประท้วงฝ่าแนวกั้นของตำรวจเข้ามาได้สำเร็จ พร้อมถือป้ายและตะโกนข้อความต่อต้านนโยบายทางการเมืองของทรัมป์ที่ขับไล่ผู้อพยพและทำลายสิ่งแวดล้อม และยืนยันว่าพวกเขาไม่ต้อนรับนายทรัมป์ให้มาที่เมืองดาวอส เพื่อเข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจโลก 

AP18023697045474.jpg

ผู้ประท้วงไม่ได้เพียงแต่ต่อต้านนายทรัมป์เพียงอย่างเดียว แต่ยังต่อต้านการจัดการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยมองว่าระบบทุนนิยมที่สุดโต่งเป็นต้นตอของปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยังทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งตำรวจได้เข้ามาสลายการชุมนุมอย่างสงบ โดยที่ไม่มีผู้ประท้วงคนใดถูกจับกุม 

000_WI6VX.jpg

มอสโกและเมืองอื่นๆ ในรัสเซีย

เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 28 ม.ค.2561 ประชาชนหลายพันคนได้ออกมาประท้วงในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เพื่อเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนมีนาคม โดยนายอเล็กเซีย นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้าน และสมาชิกฝ่ายค้านอีก 15 คน เป็นแกนนำการชุมนุมประท้วงคว่ำบาตรการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก่อนที่เขาและพวกจะถูกตำรวจเข้าควบคุมตัว

AP18028462755520.jpg

การเดินขบวนครั้งนี้ ผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและเป็นอิสระจากการเมือง โดยเดอะมอสโกไทม์รายงานว่า หนึ่งในผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้ยุติการสืบทอดอำนาจของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่สืบทอดตั้งแหน่งประธานาธิบมายาวนานเกือบ 20ปีในกรณีที่เขาจะชนะการเลือกตั้งในวันที่ 18 มี.ค. 2561 ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ในวงกว้างว่า ปูตินจะยืดขยายตำแหน่งประธานาบดีจาก4 ปีเป็น 6 ปี

แจนนา หนึ่งในผู้ประท้วงวัย 23 ปีกล่าวว่า "นี้ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เป็นการแสดงอำนาจของเผด็จการปูตินที่จัดการกับพวกเรา ทั้งๆ ที่คะแนนนิยมของปูตินนั้นตกต่ำในหมู่ประชาชน พวกเราต้องการเสรีภาพ ต้องการการเลือกตั้งที่ยุติธรรม นาวาลนีควรได้ลงเลือกตั้งเพื่อแข่งขันกับปูตินและทุกคนควรได้สิทธิ์ในการลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ใช่ถูกกีดกัน"

AP18028428114152.jpg

อ่านเพิ่มเติม