การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 19 หรือบอร์ดค่าจ้าง เคาะอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่แล้ว หลังใช้เวลาประชุมแบบไตรภาคีนาน 7 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้น 7 ระดับ ตั้งแต่ 5 ถึง 22 บาท มีอัตราอยู่ระห่าง 308 -330 บาท อัตราต่ำสุดอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยที่ประชุมเสนอให้เริ่มบังคับใช้อัตราใหม่วันที่ 1 เมษายนนี้ โดยไม่มีผลย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม ต้องรอการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน
โดยนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยว่า การพิจารณาขึ้นค่าจ้างในปีนี้ (61) มาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งค่าครองชีพก็ไม่เท่ากัน เติบโตอยู่ตลอด ขณะเดียวกันดัชนีผู้บริโภค และการขยายตัวเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดก็มีการขยายตัวในตัวของมัน และโดยปกติจะมีการปรับค่าจ้างขึ้นทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อปี 2554 เราขึ้นเยอะ ขึ้นจาก 100 กว่าบาทมาเป็น 300 บาท ก็เลยมีมติว่าไม่ให้ขึ้น 3 ปี และจะมาขึ้นปีที่แล้วครั้งเดียวเท่านั้น
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งนี้ แบ่งเป็น 7 ระดับ ประกอบด้วย
1.ค่าจ้าง 308 บาท มี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
2.อัตรา 310 บาท มี 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช มหาสารคาม
3. อัตรา 315 บาท มี 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง
4. อัตรา 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี
5. อัตรา 320 บาท มี 14 จังหวัด คืออุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา
6. อัตรา 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา
7. อัตรา 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน จะนำมติดังกล่าวรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารนี้ (23 ม.ค.61)