นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 2 - 5 เมษายน 2561 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 14 จังหวัด 22 อำเภอ 34 ตำบล 52 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 332 หลัง แยกเป็น
ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา รวม 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 50 หลัง ลำปาง เกิดวาตภัยในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภองาว อำเภอวังเหนือ อำเภอแม่พริก อำเภอเถิน และอำเภอเสริมงาม รวม 8 ตำบล 10 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 132 หลัง แพร่ เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอร้องกวาง รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 4 หลัง เชียงราย เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอพาน รวม 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3 หลัง เพชรบูรณ์ เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอหนองไผ่ รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 23 หลัง น่าน เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอปัว รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 8 หลัง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอเทพารักษ์ รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5 หลัง เลย เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอนาแห้ว รวม 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5 หลัง บุรีรัมย์ เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5 หลัง มหาสารคาม เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอกันทรวิชัย รวม 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 9 หลัง
ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท เกิดวาตภัยในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสรรพยา และอำเภอเมืองชัยนาท รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 11 หลัง ฉะเชิงเทรา เกิดวาตภัยในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนมสารคาม อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางปะกง และอำเภอท่าตะเกียบ รวม 7 ตำบล 8 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 57 หลัง ลพบุรี เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล รวม 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10 หลัง
ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอนาเดิม รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10 หลัง
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในวันที่ 6 เมษายน 2561 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า กับลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 7 เมษายน 2561 ด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง ส่วนภาคใต้ตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกจะมีฝนลดลง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนองในช่วงวันที่ 6 - 7 เมษายน 2561 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย อย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด
พร้อมกันนี้ ยังตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย