นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งจัดทำรายละเอียดแผนงานและขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเป็นเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ซึ่งยังเสร็จไม่ทันเสนอที่ประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (11 ก.ย.61)
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือจะให้ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ ระยะเวลา 3 เดือน เป็นข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ หามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภาวะราคายางตกต่ำต่อเนื่อง โดยเกษตรกรที่จะได้รับเงินช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรขึ้นทะเบียนชาวสวนยางไว้กับ กยท. ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าเงินช่วยเหลือจะเป็นจำนวนเท่าใด นโยบายไม่ได้เป็นการหาเสียงของรัฐบาล แต่ต้องการช่วยเหลือชาวสวนยาง ซึ่งไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินแบบให้เปล่า แต่เกษตรกรต้องมาฝึกอบรมเพื่อพัฒนาอาชีพด้วย จึงจะได้รับเงินผ่านบัญชีธนาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
"สิ่งที่ทำควบคู่ คือ การยกระดับราคายางอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมให้ใช้ยางพาราในประเทศ สนับสนุนการประกอบอุตสาหกรรมแปรรูปยางเพื่อดูดซับปริมาณยางพาราออกจากตลาด ราคาจะได้ปรับตัวสูงขึ้นและจะไม่ใช้วิธีแทรกแซงราคายางด้วยการซื้อในราคานำตลาด รวมทั้งการรับจำนำยาง เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งปัญหาที่ตามมา คือ ต้องใช้เงินเช่าสถานที่เก็บรักษา หากขายต่อไม่ได้ก็จะกลายเป็นสต็อกยางค้างแล้วเป็นวัฎจักรกดดันราคาเหมือนขณะนี้" นายกฤษฎา กล่าว
ส่วนที่มีข่าวว่ารัฐบาลเร่งขายยางค้างสต็อกก่อนปี 2557 ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นมีนโยบายให้ซื้อมาแล้วขายไม่ออก นายกฤษฎา ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะการนำยางเก่ามาขายตอนนี้จะยิ่งทำให้ราคายางพาราในปัจจุบันซึ่งอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 43-45 บาท ถดถอยลงไปอีก โดยราคาที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับไปให้ได้ คือ ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรชาวสวนยางอยู่ได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :