นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่มีการแพร่ภาพข้อความว่า ร้านธงฟ้าประชารัฐจะเรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย หรือ บัตรคนจน เพิ่มเติม เนื่องจากทางร้านต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 นั้น
ประเด็นนี้ต้องชี้แจงว่า 1) การเข้าร่วมเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐนั้น ร้านค้าต้องไม่จำหน่ายสินค้าในราคาที่เกินกว่าราคาจำหน่ายปลีกที่กำหนดไว้ ในกรณีที่ร้านค้าได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้านค้าต้องแสดงใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ณ สถานประกอบการในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย
หากร้านค้ายังมิได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในราคาสินค้า ร้านค้าสามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มเติมจากราคาสินค้าที่ยังมิได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในอัตราร้อยละ 7 โดยต้องขายสินค้าในราคาเดียวกันแก่ผู้ซื้อทุกราย รวมถึงมีหน้าที่ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำภาษีขายที่ตนได้เรียกเก็บ หักภาษีซื้อจากการซื้อสินค้า และนำส่งส่วนต่างให้แก่กรมสรรพากร ดังนั้น ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงสามารถขอคืนภาษีซื้อจากกรมสรรพากรได้ จึงมิได้เป็นการเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด
2) นอกจากนี้ กรณีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐบางแห่งเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมเฉพาะการซื้อจากการใช้บัตรประชารัฐ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) โดยอ้างว่าเป็นการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง และอาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ
3) ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ดังนั้น การติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อรับชำระค่าสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐ จึงมิได้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ร้านค้า และหากมีการดำเนินการผิดหลักเกณฑ์ตามประกาศกรมการค้าภายในและกรมการค้าภายในเพิกถอนการเป็นร้านธงฟ้าประชารั
"ร้านค้าที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำภาษีขายที่ตนได้เรียกเก็บ มาหักภาษีซื้อจากการซื้อสินค้าได้ ประกอบกับกรมบัญชีกลางสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่อง EDC จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ร้านค้า" นายพรชัยกล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนหรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐพบเห็นร้านธงฟ้าประชารัฐฉวยโอกาส หรือเอาเปรียบประชาชนให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ ขอให้แจ้งเบาะแสชื่อร้านค้าและที่ตั้งร้านค้าได้ที่กรมสรรพากร สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ และสายด่วน 1569 กรมการค้าภายในหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
สรรพากรเตือนผู้บริโภคตรวจสอบร้านค้าเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จดทะเบียน VAT หรือไม่
นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล 6 แสนราย และจะต้องนำส่งภาษีทุกเดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่อปีเกิน 1,800,000 บาท ตามกฎหมายแล้วต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และสามารถขายสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ซื้อได้
ส่วนกรณีร้านค้าที่รายได้ต่อปีไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว กฎหมายไม่ได้กำหนดให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากสรรพากรพื้นที่ตรวจสอบพบว่า มีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องเข้ามาจด VAT ซึ่งผู้ประกอบการโดยเฉพาะร้านธงฟ้าประชารัฐ ต้องมีคุณสมบัติตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดคือ ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันก็มีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยให้การดำเนินการเหล่านี้ของผู้ประกอบการสะดวกขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าแก่ร้านค้าเช่นกัน
"ยอมรับว่า ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ที่ไม่เคยจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาก่อน ก็จะมีสิ่งที่ต้องทำมากขึ้น ยุ่งยากขึ้น แน่ๆ แต่อีกด้านหนึ่ง หากเขาอยากขยายกิจการ ต้องการปรับตัว ทำบัญชีรับ-จ่าย ถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจของเขาในระยะยาว เนื่องจากบ้านเรา ที่ผ่านๆ มา ผู้ประกอบการก็จะอยู่แบบเหมาๆ กันเยอะ ไม่เคยทำบัญชีรับจ่าย ทั้งที่หากทำแล้ว อาจพบว่าที่ผ่านมา ไม่ต้องเสียภาษีมากขนาดนั้นก็ได้" นางแพตริเชีย กล่าว
พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ร้านค้าที่ซื้อสินค้าที่ผู้ผลิตรายใหญ่ ย่อมต้องซื้อของเสีย VAT ในฝั่งขาซื้ออยู่แล้ว แต่หากร้านค้านั้นไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่สามารถไปคิดค่าสินค้าและบริการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มกับลูกค้าได้ ซึ่งกรณีนี้จะทำให้ร้านค้าเสียประโยชน์ เพราะเสียภาษี VAT ขาซื้อ แต่ไม่สามารถเรียกเก็บภาษี VAT ขาขายได้
นอกจากนี้ สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการ ต้องสังเกตว่า ร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้หรือไม่ และหากพบว่า ร้านค้าทำไม่ถูกต้อง เช่น เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งที่ไม่ได้จดทะเบียน VAT ผู้บริโภคสามารถชี้เบาะแสร้านค้ามาที่กรมสรรพากรเพื่อดำเนินการตรวจสอบได้
กรมการค้าภายในขอความร่วมมือแจ้งเบาะแสร้านค้าทำผิดเงื่อนไขสายด่วน 1569
ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า มีร้านธงฟ้าประชารัฐแห่งใดที่อ้างเก็บค่ารูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจากผู้มีรายได้น้อย เพราะเท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้น มีผู้ส่งภาพมาแต่ไม่ระบุชื่อร้าน ไม่ระบุตำแหน่งแห่งที่ ดังนั้น สำหรับประชาชนที่พบเบาะแส สามารถแจ้งมาที่สายด่วน 1569 ของกระทรวงพาณิชย์ ที่สำคัญต้องแจ้งชื่อร้าน สถานที่ และพฤติกรรม ให้ชัดเจน
ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ล่าสุดมีร้านธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) แล้ว 18,799 จุด ใน 7,454 ตำบล ยังเหลืออีกประมาณ 105 ตำบล ที่ยังไม่มีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการ ขณะที่มีการคืนหรือเพิกถอนเครื่อง EDC แล้ว 1,458 เครื่อง หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 จากจำนวนที่ติดตั้งทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้หาร้านทดแทนร้านค้าที่คืนและเพิกถอนเครื่องแล้ว
ข่าวเกี่ยวข้อง :