สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศและมาตรฐานการบริการของสายการบินที่เป็นสมาชิก ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 5 พ.ค. (IATA Calls for Passenger Face Covering and Crew Masks. Opposes Onboard Social Distancing) โดยระบุว่า IATA สนับสนุนข้อบังคับให้ผู้โดยสารและลูกเรือสวมหน้ากากอนามัยขณะเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่คัดค้านมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing บนเครื่องบิน
เนื้อหาในแถลงการณ์ของ IATA ระบุว่า การบังคับให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่บนเครื่องบินเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพที่จะได้ผลมากที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในยุคที่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แพร่ระบาด แต่มองว่าการเว้นระยะห่างฯ ที่บางสายการบินบังคับใช้ โดยเว้นที่นั่งแถวกลางบนเครื่องบิน ไม่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการสวมหน้ากากอนามัย
IATA ได้อ้างอิงรายงานการตรวจสอบแกะรอยผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เดินทางจากจีนไปยังสหรัฐอเมริกา ช่วงก่อนจะประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก พบว่าการติดเชื้อไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างโดยสารเครื่องบิน แต่ผู้ป่วยติดเชื้อตั้งแต่ก่อนเดินทาง
นอกจากนี้ IATA ยังระบุด้วยว่า มาตรฐานการเดินทางด้วยเครื่องบินมีความปลอดภัยทางสุขภาพสูงกว่าการเดินทางอื่นๆ อยู่แล้ว เพราะห้องโดยสารบนเครื่องบินก็มีกฎบังคับว่าจะต้องติดตั้งระบบกรองอากาศ HEPA หรือ High Efficiency Particulate Air ที่สามารถกรองอนุภาคที่มีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นมาตรฐานปกติ หากผู้อยู่บนเครื่องบินทุกคนสวมหน้ากากอนามัยก็จะลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคจากการหายใจหรือไอจามได้มากกว่าการเว้นระยะห่างบนเครื่องบิน
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ IATA คัดค้านมาตรการเว้นระยะห่างฯ เป็นเพราะการเว้นที่นั่งบนเครื่องบินจะทำให้เกิดภาระด้านต้นทุนในการบินแต่ละเที่ยวเพิ่มขึ้นราว 43-54 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับเส้นทางบิน และสถานการณ์เช่นนี้จะกระทบต่อธุรกิจการบินทั่วโลกที่กำลังประสบภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว อันเป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการสกัดการเดินทางที่หลายประเทศทั่วโลกบังคับใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ส่วนมาตรการเสริมสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพบนเครื่องบินที่ IATA เสนอให้สายการบินที่จะทยอยกลับมาเปิดให้บริการหลังวิกฤตโควิด-19 ต้องเพิ่มความเข้มงวดกวดขัน ได้แก่
1. การตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารและลูกเรือ ทั้งขณะที่อยู่ในอาคารผู้โดยสารและก่อนขึ้นเครื่องบิน
2. การปรับเปลี่ยนขั้นตอนที่เครื่องจะเทียบท่าหรือออกจากสนามบินต่างๆ ให้ลดการสัมผัสระหว่างบุคคลให้น้อยลง
3. การจำกัดหรือควบคุมการเคลื่อนที่บนเครื่องบิน
4. การทำความสะอาดบนเครื่องบินจะต้องทำบ่อยขึ้นและละเอียดขึ้น
5. ปรับขั้นตอนการเสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินให้ลดการสัมผัสระหว่างบุคคลให้มากที่สุด
ขณะที่ Business Traveler ที่เป็นสื่อธุรกิจการเดินทาง รายงานว่า กฎข้อบังคับด้านการบินหลังยุคโควิด-19 จะส่งผลต่อธุรกิจการบินอย่างแน่นอน พร้อมยกตัวอย่างสายการยูไนเต็ด, อเมริกันแอร์ไลน์ และสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่ออกกฎให้ลูกเรือทั้งหมดสวมหน้ากากบนเครื่องบินไปแล้วเรียบร้อย ขณะที่รอยัลดัตช์แอร์ไลน์ (KLM) ประกาศว่าผู้โดยสารที่เดินทางกับสายการบินจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.เป็นต้นไป
สายการบินที่ออกกฎหรือจะออกกฎให้ผู้โดยสารและลูกเรือต้องสวมหน้ากากอนามัยหลังเปิดบริการช่วงสิ้นสุดมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก ได้แก่ แอร์เอเชีย ประเทศไทย, แอร์แคนาดา, แอร์ฟรานซ์, อเมริกันแอร์ไลน์, เดลตา, เอมิเรตส์, อีวีเอ แอร์, เจ็ต บลู, เคแอลเอ็ม, ลุฟต์ฮันซา, สิงคโปร์แอร์ไลน์, ยูไนเต็ด และวิซแอร์
อย่างไรก็ตาม การคัดค้านมาตรการเว้นระยะห่างบนเครื่องบินอาจนำไปสู่การตั้งคำถามได้ว่าการออกกฎเว้นระยะห่างในสถานประกอบการอื่นๆ จะถูกเสนอให้ยกเว้นเหมือนการเดินทางด้วยเครื่องบินหรือไม่
ขณะที่สายการบินฟูลเซอร์วิสประกาศใช้มาตรการเว้นระยะห่างบนเครื่องบินโดยงดขายบัตรโดยสาร 'ที่นั่งแถวกลาง' แต่สายการบินราคาประหยัดในสหรัฐฯ อย่าง 'ฟรอนเทียร์' กลับถูกประณามว่า 'ฉวยโอกาสหาประโยชน์' จากความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะผู้ที่ต้องการให้เว้นที่นั่งแถวกลางบนเที่ยวบินของฟรอนเทียร์จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ตั้งแต่ 39 ดอลลาร์ขึ้นไป หรือประมาณ 1,200 บาท
สายการบินฟรอนเทียร์ประกาศว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มกับเที่ยวบินในประเทศ ซึ่งจะเดินทางตั้งแต่ 8 พ.ค.ไปจนถึง 31 ส.ค.2563 ทำให้คณะกรรมาธิการประจำสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ว่าด้วยความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านการบิน ส่งจดหมายถึง 'แบร์รี บิฟเฟิล' ประธานบริหารของฟรอนเทียร์ โดยระบุว่านโยบายเก็บเงินผู้โดยสารเพื่อเว้นที่นั่งตรงกลางของสายการบิน เป็นเรื่องที่ 'เกินเหตุ'
จดหมายดังกล่าวเป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เดโมแครต 3 รายที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ โดยเนื้อหาบางส่วนของจดหมายระบุว่า ในภาวะจำเป็นที่สังคมจะต้องช่วยกันควบคุมและรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายการบินเอกชนไม่ควรคิดราคาเพิ่มแก่ผู้โดยสารที่ต้องการความปลอดภัยด้านสุขภาพบนเครื่องบิน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่สายการบินต้องให้บริการแก่ผู้โดยสารอยู่แล้ว
ส่วนบิฟเฟิล ชี้แจงผ่านสื่อ ABC News โดยระบุว่า สายการบินตระหนักดีว่ามีข้อกล่าวหาเรื่องการหาประโยชน์จากความปลอดภัยของผู้โดยสารเกิดขึ้น แต่ก็ขอยืนยันว่าสายการบินไม่มีเจตนาเช่นนั้นแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการเสนอ 'ทางเลือก' ด้านพื้นที่บนเครื่องบินให้แก่ผู้โดยสารเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: