ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน APEC University Leaders’ Forum ภายใต้หัวข้อ "การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป" ว่า วันนี้เป็นโอกาสดี ซึ่งเวทีนี้สำคัญเพราะเรากำลังเผชิญความท้าทายหลายมิติ ซึ่งความท้าทายหากย้อนไปเกี่ยวข้องกับโรคอุบัติใหม่ ความขัดแย้งในภูมิภาค การค้า การลงทุนต่างๆ ซึ่งเป็นห่วงโซ่ ทั้งนี้ตนมีความสุขที่ได้เห็นเวทีคู่ขนานในการประชุมเอเปคครั้งนี้
สำหรับการการประชุมทางวิชาการ APEC University Leaders Forum 2022 ในวันนี้ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งสอดรับกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ APEC ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เครือข่ายการศึกษาทั่วโลกได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาชาติ และเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์ในมิติต่างๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในอัจจุบันและอนาคต โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้นจะเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันจากความท้าทายดังกล่าว อีกทั้งเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
สำหรับการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ เรามุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยุคหลังโควิด – 19 โดยในส่วนของเรื่องOpen เน้นการผลักดันให้เอเปคนำเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก มาหารือใหม่ เพื่อให้เอเปคสามารถรับมือกับความท้าทายและใช้โอกาสจากบริบทโลกแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การค้ากับโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน
ส่วนของ Connect ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของภูมิภาคในทุกมิติ ทั้งการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างสะดวกปลอดภัย และความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อให้เอเปคมีแนวทางการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในอนาคต โดยยังสามารถรักษาการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด และสุดท้าย Balance เน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยส่งเสริมโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ต้องคำนึงสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันทั้งสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองเอกสาร “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทย มาเร่งกระบวนการทำงานและวางบรรทัดฐานใหม่ให้เอเปคมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมุ่งขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยเพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสังคมและสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ผมเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้วางนโยบายและผู้นำธุรกิจ จะได้มาร่วมกันสร้างสรรค์นโยบาย ออกแบบทิศทางและแผนการบริหารประเทศที่สอดรับกับวิถีความปกติใหม่ของโลก โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ถึงแม้ว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิดมาแล้ว
แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกในขณะนี้ คือการทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ให้พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง
ทุกท่านในวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า “ความถูกต้องของข้อมูลและการเผยแพร่/รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง” เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ในการบริหารสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล ทั้งนี้การเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน จำเป็นต้องอาศัยความถูกต้องทางวิชาการ ทั้งจากการศึกษา ค้นคว้าภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย นักวิชาการ จะเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อเอาชนะข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อและข่าวปลอมที่แพร่กระจายและเป็นภัยอยู่ในสังคม ยกตัวอย่างเช่นในช่วงต้นของการให้บริการวัคซีนโควิด ที่ประชาชนบางส่วนมีความกังวลใจเกี่ยวกับผลค้างเคียงของวัคซีนเนื่องจากได้รับข้อมูลข่าวสารที่อาจไม่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาด แต่ในภายหลัง ความหวาดกลัวได้คลายลงเมื่อข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้เริ่มปรากฏออกมามากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้อย่างน่าพอใจ
ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศถึงนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และด้วยความสำเร็จนี้ องค์การอนามัยโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง “การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเดือน ม.ย.2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ทั้งสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยต่างๆ ตลอดจนอาสาสมัครและประชาชนทุกคน ทั้งนี้รวมถึงความม่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ ระยุว่า ตนขอชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาทั้งหมดที่ได้ร่วมมือกับ ศบค. ในการช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต เช่น CU-RoboCOVID ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม รวมถึง Chula COVID-19 Strip Testรวมถึงนวัตกรรมการรักษา “วัคซีนใบยา” ที่เป็นวัคซีนโควิด ชนิด mRNA ที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น โดยนวัตกรรมต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นจากการร่วมมือพัฒนาของนักวิชาการและนักวิจัยสหสาขา ในขณะเดียวกันเรายังมีผลงานยอดเยี่ยมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง ที่สามารถพัฒนาชุดตรวจ และการตรวจชนิดที่ทันเหตุการณ์ หรือการตรวจทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่กำลังระบาดอีกด้วย
จากการทบทวนบทเรียนจากการรับมือสภาวะฉุกเฉินในการระบาดของโรคโควิด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ รวมไปถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้นและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุอีกว่า ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมเชิงวิชาการในวันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับความท้าทายต่างๆ โดยการศึกษาและการวิจัยร่วมกันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบต่อไป
ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณผู้ที่มาร่วมงานจากต่างประเทศ ว่า ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยือนประเทศไทย ซึ่งเราก็เป็นประชาคมโลกเช่นเดียวกัน ความห่วงใย เรามีให้กันเสมอไม่ว่าจะอยู่ประเทศใดหรือภูมิภาคใดในโลกใบเดียวกันนี้ เราต้องรักกัน เราต้องสามัคคีกัน เผื่อแผ่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน วันนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องการสันติสุขในประเทศไทย เพราะจะเป็นบ่อเกิดของทุกๆเรื่อง อาทิ เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาประเทศ ฉะนั้นเราต้องรักกัน พร้อมขอเป็นตัวแทนคนไทย กล่าวต้อนรับทุกคนด้วยรอยยิ้มสยามเมืองยิ้ม