ไม่พบผลการค้นหา
2 นักวิเคราะห์ 2 แบงก์ชี้ กนง.ดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 1.50 เซอร์ไพรส์ตลาด เปิดประตูดอกเบี้ยขาลง กระโจนเข้าสู่สงครามค่าเงินในภูมิภาค ส่งผล 'เงินบาทอ่อนค่า' อุ้มส่งออก ลดความร้อนแรงเงินร้อนทะลัก ห่วงระยะข้างหน้า 'หนี้ครัวเรือนสูง' จะแก้อย่างไร

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า รอบนี้ที่ กนง. ลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 1.75 เหลือร้อยละ 1.50 นับว่าเหนือความคาดหมายที่ลดเร็วกว่าคาดการณ์ เพราะก่อนหน้านี้ มองว่ากนง.จะลดดอกเบี้ยแต่น่าจะลดปลายปี แต่รอบนี้ลดเร็วกว่าที่คาด และไม่ได้มีการส่งสัญญาณก่อนหน้า ทั้งที่เดิมที่ก่อนแบงก์ชาติจะทำอะไรมักจะเห็นเสียงแตกของกนง. เช่น จากมติ 7-0 ที่คงดอกเบี้ยในการประชุมรอบก่อนหน้า น่าจะออกผลด้วยมติ 6-1 หรือ 5-2 ก่อน แต่กลับมีการลดดอกเบี้ยในรอบนี้เลย โดยให้เหตุผลว่ามาจากความเสี่ยงที่มากขึ้น และจากเศรษฐกิจที่ชะลอ  

สำหรับเหตุผลของการลดดอกเบี้ยมี 3 เหตุผลหลักๆ ก่อนหน้านี้เคยพูดไว้ว่า แบงก์ชาติมีความอดทนสูง 3 ด้าน วันนี้ แบงก์ชาติน่าจะมีความอดทนน้อยลงใน 3 ด้าน หรือไม่ทนอีกต่อไปแล้ว ได้แก่  

1. ไม่ทนต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่ำกว่าคาด ตัวเลขล่าสุดเดือนมิ.ย.ที่การรายงานเศรษฐกิจรายเดือนออกไป สะท้อนภาพว่าเศรษฐกิจชะลอจากภาคการส่งออกและกำลังลามมาสู่ภาคในประเทศ และเชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะโตต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก่อนหน้า เราคิดว่าจะโตสักร้อยละ 2.5 แต่จะต่ำแค่ไหนก็ต้องมาจับตาดู ที่น่ามองต่อไปคือเราคิดว่าเศรษฐกิจที่ชะลอในครึ่งแรก เป็นปัจจัยชั่วคราวที่ น่าจะไปฟื้นครึ่งหลัง แต่หลังจากสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังมีการขึ้นภาษีจากปธน.ทรัมป์ต่อจีนในสินค้านำเข้า 3 แสนล้าน ขึ้นมาอีกร้อยละ 10 น่าจะสะท้อนว่าเศรษฐกิจในอนาคตไม่ดี ตรงนี้น่าจะเป็นจุดพลิกผันที่ว่าแบงก์ชาติไม่ทนต่อไปแล้วกับเศรษฐกิจที่จะชะลอ การส่งออกคาดว่าจะย่ำแย่ต่อเนื่องแล้วก็ลามมาสู่เศรษฐกิจในประเทศไทย 

2. แบงก์ชาติไม่ทนต่อเงินเฟ้อต่ำ เพราะเงินเฟ้อเดือนล่าสุดหลุดกรอบล่างที่ร้อยละ 1 อีกแล้ว และก็มองต่อไปข้างหน้าราคาพลังงานที่ลดลง แล้วก็ลามมาสู่อุปสงค์ในประเทศที่ดูเหมือนชะลอ กำลังซื้อเองอาจจะไม่ค่อยมีมากนัก อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่แบงก์ชาติอาจจะมีการลดดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้ แต่ผมไม่ได้ให้น้ำหนักมากเท่าประเด็นแรก 

3. ที่แบงก์ชาติไม่ทนต่อไปแล้วสำหรับบาทที่แข็งค่า วันนี้ ค่าบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคและออกข่าวต่างประเทศหลายวันว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาบาทแข็งจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง แม้ว่าส่งออกจะย่ำแย่แต่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ที่สำคัญก็คือ เมื่อจีนชะลอแต่เราไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนหรือผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หรือภาคการส่งออกมากนัก ทำให้บาทเองเป็นที่พักของนักลงทุนต่างชาติ บาทแข็งแรงแล้วกระทบความสามารถในการแข่งขันผู้ส่งออก ย้อนกลับมาเรื่องของเศรษฐกิจที่ชะลอและเงินเฟ้อต่ำได้ เพราะฉะนั้นมองต่อไป เศรษฐกิจวันนี้อยู่ในช่วงของการชะลอ แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 5-2 วันนี้หวังผล กระตุ้นเศรษฐกิจและดึงเงินเฟ้อให้ขยับดีขึ้น 

"ผมเชื่อว่าวันนี้เป็นการประกาศสงครามค่าเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่เราเองต้องกระโจนเข้ามาหลังจากที่วันนี้เองแบงก์ชาตินิวซีแลนด์ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติอินเดียก็ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติของไทยก็ต้องเข้ามาร่วมวงด้วยเป็นการเข้ามาพร้อมกันทีเดียวในภูมิภาคนี้เพื่อเปิดศึกสงคราม ที่สำคัญคือ เพื่อดึงให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ให้ชะลอมากไปกว่านี้"

กระทุ้งแบงก์ชาติ 'จะลดดอกเบี้ยอีกไหม-หนี้ครัวเรือนยังห่วงอยู่ไหม'

วันนี้ต้องมองต่อ แบงก์ชาติเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยไปเดือนธันวาคม แล้วกลับมาลดเหลือร้อยละ 1.5 อยากให้เราถาม คำถามแบงก์ชาติ 2 ข้อครับ 

1. แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยต่อไหม ลดต่อในปีนี้หรือปีหน้า 

2. สิ่งที่แบงก์ชาติกังวลไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพ เศรษฐกิจเรื่องของหนี้ครัวเรือนสูง คนลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเกินตัว แบงก์ชาติยังห่วงอยู่ไหม 

คำถามแรก: แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยต่อไหม ผมเชื่อว่าลดครับ เมื่อเปิดประตูดอกเบี้ยขาลงแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะลดต่อ และเชื่อว่าจะพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก จีดีพีไตรมาส 2 ที่จะรายงานกลางเดือนนี้ ถ้าออกมาแย่ เป็นไปได้ที่กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งกันยายนนี้ หรืออาจจะรอต่อไป คือรอจีดีพีไตรมาส 3 ที่จะรายงานในเดือนพ.ย.แล้วลดดอกเบี้ยอีกครั้งเดือนธันวาคมก็ยังไม่สาย 

คำถามสอง : สิ่งที่แบงก์ชาติเป็นห่วงยังห่วงอยู่ไหม ห่วงครับ ในคำแถลงผมเชื่อว่าความกังวลของแบงก์ชาติยังมีอยู่ สำหรับเรื่องดอกเบี้ยที่ลดลงแล้วจะกระทบกับหนี้ครัวเรือนที่สูง กระทบต่อเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน แล้วที่สำคัญ เขาห่วงเรื่อง policy space ว่าถ้าเกิดวิกฤตในอนาคตแบงก์ชาติจะไม่เหลือเครื่องมือใดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เองต้องจับตาดูว่าแบงก์ชาติอาจจะใช้เครื่องมืออื่น 

นอกจากดอกเบี้ย เพื่อประคองเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน ออกมาตรการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ไปแล้ว อาจจะดูเรื่องความในการชำระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เกณฑ์วัดในการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้า เป็นปัจจัยที่น่าติดตามกันต่อไป

โดยสรุป มองไปข้างหน้า การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ คงเหมือนการที่แบงก์ชาติไม่ขอทนต่อไปแล้วสำหรับสงครามการค้าที่ลามมาสู่สงครามค่าเงิน ที่ไทยเป็นเหยื่อของภาคการส่งออกที่ย่ำแย่ และจากเงินบาทที่แข็งค่า แต่การลดดอกเบี้ยนี้ คงมีผลไม่มากที่จะทำให้สินเชื่อเติบโตจนพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะทางธปท. คงห่วงเรื่องเสถียรภาพตลาดเงินอยู่ และยังไม่หย่อนเกณฑ์ในการกำกับธนาคารพาณิชย์ ผมจึงหวังว่า ทางรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้น และกระจายตัวไปสู่ระดับ SME และฐานรากของประเทศ

หุ้น-นักลงทุน-ดัชนีหุ้น-ตลาดหลักทรัพย์

กนง.เซอร์ไพร์สตลาด กดบาทอ่อนรูดลงเร็ว แตะ 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ความเห็นว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่สร้างความประหลาดใจให้ตลาดด้วยการลงมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 1.50 เป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ส่งผลให้เงินบาทอ่อนลงค่าอย่างรวดเร็วแตะระดับ 30.90 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่กลับมาซื้อขายแถว 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับที่ซื้อขายก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย นับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทยังคงแข็งค่ามากกว่าร้อยละ 5 และเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากกว่าสกุลอื่นๆ ในเอเชีย 

ทั้งนี้ คณะกรรมการ 2 ท่านมีความเห็นให้คงดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้มีแนวโน้มการผ่อนปรนนโยบายการเงินทั่วโลก แต่เรายังไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำอยู่แล้ว สำหรับแนวโน้มต่อไป 

ดังนั้น กรุงศรีฯ คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยประเด็นสงครามการค้าโลกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะผลต่อการปรับมุมมองของเรา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :