รายงานข่าวจากบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ระบุว่าในวันนี้ (2 เม.ย. 2563 ) มีการประชุมผู้บริหารภายในเครือ โดยเห็นชอบให้ยุบกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และกองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์ โดยทั้งสองเครือนี้อยู่ภายใต้สังกัดบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด พร้อมทั้งเลิกจ้างพนักงานในสังกัดบริษัทคมชัดลึก มีเดีย จำกัด จำนวนร้อยละ 50 โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผลการเลิกจ้างเป็นพนักงานในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ขณะที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึกจะตีพิมพ์จนถึงวันที่ 15 เม.ย. นี้ ส่วนเว็บไซต์คมชัดลึก และเว็บไซต์เนชั่นสุดสัปดาห์จะให้มาอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเนชั่นทีวี
"บริษัทในเครือเนชั่น บริษัทไหนไม่มีกำไรก็จะไม่ได้ไปต่อ โดยจะให้ตัดต้นทุนออกจนเหลือบริษัทที่ทำรายได้ให้กับบริษัทเท่านั้น ซึ่งการเลิกจ้างพนักงานที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" พนักงานบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด ซึ่งถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน ระบุกับ 'วอยซ์ออนไลน์'
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 เรื่องมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุตอนหนึ่งว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่อาจคาดหมายได้ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างรุนแรงโดยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ดังนั้น เพื่อให้บริษัทฯ สามารถอยู่รอดต่อไปได้ภายใต้สภาวะวิกฤตเช่นนี้ บริษัทฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้โดยเร่งด่วน โดยมอบหมายให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจนำมาตรการต่างๆ ไปปรับใช้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ดังต่อไปนี้
1.พิจารณาปรับลดเงินเดือนพนักงานทุกคนของแต่ละหน่วยธุรกิจ
2.ให้พนักงานลางานโดยไม่รับเงินค่าจ้าง เป็นการชั่วคราว โดยพิจารณาค่าจ้างตามวันที่ปฏิบัติงานจริง
3.ให้ทุกหน่วยธุรกิจบริหารจัดการกำลังคนและปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้มีการทำงานล่วงเวลา
4.ยกเลิกสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการปฏิบัติงานโดยตรง เช่น ค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน ค่าทันตกรรมของขวัญบุตร ของขวัญสมรส ทุนช่วยเหลือการศึกษาบุตรของพนักงาน เป็นต้น
5.ยกเลิกค่าตอบแทนอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ เช่น ค่าพาหนะ ค่าโทรศัพท์ ค่าตำแหน่ง ค่าประสบการณ์ เป็นต้น
"ให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจนำมาตรการในข้อ 1-3 ไปปรับใช้กับหน่วยธุรกิจที่ตนเองรับผิดชอบตามความจำเป็นและเหมาะสม ส่วนมาตรการในข้อ 4-5 ให้มีผลบังคับใช้ทุกหน่วยธุรกิจ อนึ่ง หากมีความจำเป็นอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจสามารถใช้ดุลยพินิจเลิกจ้างพนักงานได้ โดยมอบหมายให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจจัดทำแผนการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวสำหรับหน่วยธุรกิจที่ตนเองรับผิดชอบและนำเสนอต่อประธานกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาอนุมัติโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มาตรการเหล่านี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป"