'สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เผยได้เป็นประธานประชุมรับฟังการดำเนินการของกรมศิลปากรโดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม , นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม , นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม , นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรและผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งที่ประชุมได้รับรายงานโครงการสำคัญของกรมศิลปากรในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้แก่
1) การอนุรักษ์โบราณสถาน โดยยึดตามรูปแบบและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
2) การผลักดันและยกระดับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
3) การปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 42 แห่ง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนและเร่งปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีการประสูติของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นต้น
4) การติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย
5) การจัดการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีสัญจร เพื่อให้เข้าถึงประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
6) การพัฒนาศักยภาพการให้บริการของหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติโดยให้บริการหนังสืออี-บุ๊คและการให้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้น
7) การก่อสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่ออนุรักษ์โบราณวัตถุและเอกสารโบราณ
8) การอนุรักษ์และสืบทอดงานช่างสิบหมู่และต่อยอดงานศิลปกรรมเพื่อเผยแพร่และสร้างรายได้ ซึ่งกรมศิลปากรได้อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชนพื้นที่แหล่งโบราณสถานและแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม เช่น ชุมชนเมืองโบราณศรีเทพนำลวดลายของเมืองโบราณศรีเทพมาจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อาทิ ลายผ้า ถุงผ้า เป็นต้น นำมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวเพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ และอนาคตจะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้งานฝีมือช่างสิบหมู่และศูนย์แสดงสินค้าช่างสิบหมู่ขึ้นมาด้วย
'สุดาวรรณ' กล่าว ได้มอบหมายกรมศิลปากรขับเคลื่อนนโยบาย 1 ภาค 1 มรดกโลก ผลักดันให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก กรมศิลปากรคาดว่าปีนี้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี จะมีโอกาสขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พร้อมกับตั้งเป้าหมายจะจัดทำเอกสารและเสนอวัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมภายในปีนี้ นอกจากนี้ ได้ให้ไปศึกษาการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี(เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเสนอบรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกด้วย ส่วนการติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ได้ให้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินการติดตามมีความรวดเร็วมากขึ้น
'สุดาวรรณ' กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังได้ให้กรมศิลปากรจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงผลงานศิลปะ วาดภาพ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศ กระตุ้นให้เด็ก เยาวชนและประชาชนเข้ามาเที่ยวชมและหาความรู้ รวมทั้งปรับปรุงนิทรรศการออนไลน์ภายในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแต่ละแห่งให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นและนำเสนอนิทรรศการเพิ่มเติม'
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า ภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 320 – 350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม
จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุราว 2,500 – 3,000 ปี ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า 54 แห่งบนภูเขาลูกนี้ นอกจากนี้ก็ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี