เนชันแนล ออยล์ คอร์ป ของลิเบียออกมาเปิดเผยเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนว่า บริษัทด้านการค้าและการส่งออกถูกจำกัดการส่งออกสินค้า ซึ่งหมายรวมถึงน้ำมันในบริเวณท่าเรือสำคัญอันดับสามของลิเบียอย่าง เอส ซิเดอร์ และ ราส ลานูฟ
การหยุดการส่งออกน้ำมันจากท่าเรือดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ เนชันแนล ออยล์ คอร์ป ออกมาระบุว่า ตนอาจจะต้องหยุดการส่งออกน้ำมันจากท่าเรือบริเวณอ่าวเซอร์เท โดยทาง เนชันแนล ออยล์ คอร์ป ไม่ได้เปิดเผยว่า การหยุดการส่งออกน้ำมันของตนเกิดขึ้นจากสาเหตุใด อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่าการยุติการส่งออกน้ำมันของลิเบียในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากวิกฤตการทางการเมืองของลิเบีย
การลดลงของการส่งออกน้ำมันจากลิเบีย จะส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานน้ำมันโลก หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวพุ่งสูงขึ้นตลอดช่วงปีนี้กว่า 50% ไปอยู่ที่ราคา 115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ประมาณ 4,140 บาท) โดยเป็นผลกระทบส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันประสบปัญหาไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตามความต้องการของตลาดโลก
การขุดน้ำมันดิบของลิเบียตั้งแต่ช่วงประมาณกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ปริมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ลิเบียประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2554 หลังจาก โมอัมมาร์ อัล กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการลิเบียถูกโค่นลงจากอำนาจ ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันและท่าเรือต่างๆ ถูกปิดลง
ปัจจุบันนี้ ลิเบียมีนักการเมืองสองรายได้แก่ อับดุล ฮามิด ดีเบลบาห์ และ ฟาธี บาชากา ซึ่งทั้งสองต่างอ้างว่าตนเป็นนายกรัฐมนตรีที่ชอบธรรมของประเทศ โดยการปิดท่าเรือไม่ให้มีการส่งออกน้ำมันในครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกันกับเหตุความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานมาเป็นเวลาทศวรรษ ในขณะที่ผู้ประท้วงต้องการให้มีการโอนถ่ายกิจการด้านพลังงานไปยังบาชากาแต่เพียงผู้เดียว
จากรายงานของบริษัทแห่งชาติด้านน้ำมันของลิเบียเปิดเผยว่า การส่งออกน้ำมันดิบในปัจจุบันของลิเบียอยู่ในอัตรา 365,000 ถึง 409,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ลิเบียเป็นสมาชิกองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) ซึ่งเคยขายน้ำมันเมื่อปีก่อนในอัตรากว่าวันละ 1.1 ล้านบาร์เรล ก่อนที่วิกฤตการเมืองในช่วงปัจจุบัน จะทำให้การส่งออกน้ำมันของลิเบียถดถอยหนักลงไปกว่าเดิม
ที่มา: