“ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง” หนึ่งใน 214 นโยบาย ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นอีกมิติที่กำลังถูกจับตามอง ท่ามกลางการเจริญเติบโตของเมืองและข้อจำกัด ‘ผังเมือง กทม.’ อันซับซ้อนและยุ่งเหยิง
เหล่านี้ล้วนถูกจัดอยู่ในหมวดปัญหาของเมืองกรุง ภายใต้ความเจริญที่งอกเงยเข้ามาบดบังพื้นที่สีเขียว จึงเป็นที่มาของนโยบายปลูกต้นไม้ของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โดยแบ่งปลูก 400 ต้น ในแต่ละสัปดาห์ต่อเขต ตั้งเป้าหมายให้ครบ 1 ล้านต้น ภายใน 4 ปี
‘วอยซ์’ ชวน 'ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์' อาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 'รุกขกรอาชีพ' หรือ 'หมอต้นไม้' ที่เขานิยามอาชีพนี้ไว้ว่า ‘ตั้งแต่ทำคลอดต้นไม้จนถึงเป็นสัปเหร่อ’ เพื่อเปิดกระถางนโยบายสีเขียวของ ผู้ว่าฯ กทม.
อาจารย์จากรั้ว ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า 1 ล้านต้นไม่ใช่เรื่องยากจากการสำรวจ กทม.มีพื้นที่ 1 ล้านไร่ เมื่อเอาล้านหารล้านเท่ากับว่าได้ไร่ละต้น และนโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เชื่อว่าทุกเขตทำได้และไม่ได้เกินกำลัง
แต่สิ่งที่นักวิชาการผู้นี้กำลังกังวลคือ “ต้นไม้ที่ปลูกตอนนี้เหมาะสมที่จะปลูกหรือยัง ทั้งชนิดทั้งขนาด รวมถึงอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น”
ดังนั้นสิ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มต้นไม้ในเมืองอย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องมี ‘รุกขกร’ เริ่มตั้งแต่จัดการทำคลอดคือการปลูกต้นไม้ การทำให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง การดูแลรักษาเมื่อต้นไม้เป็นโรคหรือผิดปกติ จนกระทั่งต้นไม้ตาย
ผศ.ดร.พรเทพ ยังฉายภาพให้ชัดขึ้น เนื่องจาก ‘ต้นไม้ใหญ่’ ในกรุงเทพมหานคร จากผลสำรวจมีจำนวน 2-3 ล้านต้น แต่ กทม.ตอนนี้ ‘รุกขกร’ ที่มีการรับรองอย่างถูกต้องมีแค่ 1 คน เขาย้ำอีกว่าทั้ง กทม.มีแค่ 1 คน ทว่าไม่ใช่แค่ กทม.เท่านั้นที่ขาดแคลน
“รุกขกรที่มีในประเทศไทยที่ผ่านการรับรอง มีแค่หลัก 10 คน ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เราไม่มีรุกขกรนั่นแหละครับ ทำให้ต้นไม้อยู่ในสภาพอย่างที่เราเห็น อาจจะถูกตัดไม่ดีบ้าง ถูกโค่นออกไปบ้างปัญหาเหล่านี้ มันต้องมีการสร้างคนที่เป็นรุกกรอาชีพเข้าไปทำงานให้เพียงพอ”
อีกข้อจำกัดการขยายพื้นที่สีเขียวของเมืองหลวง จากข้อมูลพบว่า กทม.มีพื้นที่สีเขียวประมาณ 6 ตารางเมตร ต่อประชากร 1 คน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ขีดเส้นมาตรฐานไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน แต่เมื่อเจาะลึกเข้าไปแล้วกลับพบว่า พื้นที่สีเขียวทั้งหมดล้วนมีเจ้าของ
“ข้อมูลพื้นที่สีเขียวเหล่านั้น มันรวมสนามฟุตบอล สนามกอล์ฟหรือเกาะกลางถนนมาด้วย ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีใครไปนั่งกินข้าวบนเกาะกลางถนนอยู่แล้ว ดังนั้นข้อมูลล่าสุดคือ กทม.มีสวนสาธารณะประมาณ 100 แห่ง จากพื้นที่ 4,000 ไร่ เมื่อคำนวนแล้วมีพื้นที่สีเขียวจริงๆ คือ 1 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน และ 1 ล้านไร่ของพื้นที่ กทม. ทุกตารางเซนติเมตรมันมีเจ้าของหมด”
อีกปัจจัยของปัญหาคือผลพวงที่เกิดจาก ‘ผังเมืองอันซับซ้อน’ โดย ‘ผศ.ดร.พรเทพ’ บอกว่า “ผมไม่แน่ใจตอนวางผังเมืองเมื่อครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มีการรับรองต้นไม้ไหม ผมเชื่อว่าไม่มี และคงไม่สามารถย้อนกลับไป 200 ปี เพื่อแก้ไขผังเมืองใหม่ได้”
“เพราะฉะนั้นโจทย์ของกรุงเทพ ที่ผังเมืองซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากๆ การจะวางต้นไม้ในเมือง ค่อนข้างที่จะยากกว่าเมืองที่ออกแบบไว้เพื่อต้นไม้ เช่น นิวยอร์ก-ฮ่องกง-สิงคโปร์”
เนื่องจากต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการเติบโตขึ้นได้เป็น 100 ปี ตอนต้นเล็กอาจยังไม่สร้างปัญหาอะไร ทว่าการเติบโตของต้นไม้ในเมืองนั้น อาจสร้างปัญหาให้กับพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นต้นไม้ในเมืองจะปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติคงเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด จึงมีโจทย์ตามมาคือจะทำอย่างไรให้ต้นไม้อยู่ร่วมกับคนเมืิองได้ แต่การตัดต้นไม้ให้ถูกวิธี ต้องทำโดยคนที่มีความรู้จริงๆ ซึ่งก็คือ 'รุกขกร' ที่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายต่างๆจะสัมฤทธิ์ผลได้ ต้องพึ่งพาการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งส่วนผลิตนโยบายจนถึงผู้ปฏิบัติงาน ทว่าระบบราชการไทยนั้น อยู่ในลักษณะอำนาจรวมศูนย์สั่งจากข้างบนลงล่าง โดยเสียงจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนกับไร้พลัง
“ใช่ครับ” อาจารย์จากรั้ว ม.เกษตรฯตอบทันควัน และขยายต่อว่า “เมื่อก่อนนโยบายจะมาจากข้างบนลงมาข้างล่าง ข้างบนว่ายังไงข้างล่างก็ว่าอย่างงั้น พอมันขาดการเชื่อมต่อตรงกลางหายไป ผู้ว่าฯกทม. ท่านก่อนๆ อาจจะสั่งงานจริงแต่มันไม่ถึงคนปฏิบัติเลย
“พอมาสมัยนี้มันเริ่มจากการรับฟังก่อน ตอนนี้เราเริ่มคุยกันปัญหามันเกิดจากอะไร สิ่งที่ กทม.ทำได้คืออะไร สิ่งที่ภาคประชาสังคมทำได้คืออะไร อันนี้ผมว่ามันคือการขับเคลื่อนพร้อมกัน ไม่ใช่นโยบายเชิงท็อปดาวน์ที่สั่งมาจากท่านผู้ว่า ท่านผู้ว่าแค่มีกรอบใหญ่ๆว่าอยากมีพื้นที่สีเขียว แต่รายละเอียดมันเกิดจากการทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก”
ผู้เชี่ยวชาญด้านรุกขกรรม ได้ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ตามนโยบายของ ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งมีวิสัยทัศน์มองไปในอนาคต ด้วยการสร้างนโยบาย จนผลิดอกออกผลมายังยุค ลี เซียนลุง บุตรชายและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เรียกได้ว่าสิงคโปร์ เป็นพื้นที่สีเขียวดีที่สุดในโลก
“กทม.วันนี้เราเริ่มนับ 1 ใน 40 ปีข้างหน้า ผมมั่นใจว่าจะเป็นเหมือนสิงคโปร์แน่นอน แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือสิงคโปร์มีแผนในระยะยาว แต่ กทม.มีนโยบายปลูก 1 ล้านต้นก่อน ทำให้ยังขาดองค์ประกอบอีกหลายเรื่อง เช่นรุกขกรที่จะเข้ามาดูแลมีกี่คน ตรงนี้ต้องเพิ่มรายละเอียดให้กับผู้ว่าฯอีกครั้ง”
ในส่วนบทบาทการสั่งการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ‘ผศ.ดร.พรเทพ’ ได้เสนอให้เริ่มจากหน่วยงานที่รับผิดชอบพูดคุยกัน คำนึงผลความเป็นจริงจากความยากง่ายของการปฏิบัติแต่ละพื้นที่ มากกว่าผลลัพธ์ตามคำสั่งการ
“สมมติว่า 1 วัน ต้องตัดให้ได้ 3 เมตร ทุกคนก็ต้องทำหน้าตาแบบนี้ ด้วยวิธีการแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นพี่ชุดเขียว (ลูกจ้าง กทม.) เป็นหัวหน้าเขาหรือเป็นผม เพราะฉะนั้นอย่าไปว่าคนปฏิบัติ ไปว่าที่คนกำหนดโจทย์ ว่าทำไมคุณต้องสั่งให้เขาทำแบบนี้ ด้วยเวลาเท่านี้นั่นคือนโยบายครับ ซึ่งคนที่เขาทำเขาไม่มีสิทธิ์กำหนด คือผมว่าทุกคนมันรักต้นไม้หมดแหละ”
เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพ ‘อาจารย์จากคณะวนศาสตร์’ ยกกรณีเรื่อง ‘ต้นไม้กับสายไฟ’ ซึ่งคนที่ต้องคุยกันคือ กทม. ผู้เป็นเจ้าของต้นไม้ รวมถึงการไฟฟ้านครหลวงและกรมทางหลวง คุยกันสิว่าต้นไม้ที่อยากเห็น คือต้นไม้ที่สวยนะ สวยคือยังไง สายไฟต้องการแบบไหน หรือถนนเส้นนี้ขอเวลา 1 เดือน ต้องให้เวลาเขา 1 เดือน ไม่ใช่จะบอกว่ามีเวลา 1 วัน แล้วมันจะเกิดขึ้นได้ยังไง
“สิ่งที่ผมจะบอกคือมันต้องเริ่มจากนโยบายที่ถูกต้องก่อน ณ ตอนนี้นโยบายมาละ ผู้ว่าฯ กทม.เอาแน่ ตอนนี้ที่ขาดจริงๆคือผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติเรากำลังเร่งผลิตอยู่ สมาคมรุกขกรรมไทยมีการสอบรับรอง ให้เป็นรุกขกรอาชีพ ผมกำลังทำมาตรฐานอาชีพ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สิ้นปีนี้เราจะมีรุกขกรที่รับรองโดยรัฐบาล เป็นมาตรฐานอาชีพรุกขกรภายในสิ้นปีนี้”
โดยอนาคตต่อไปประเทศไทย ในสายตาของ ‘ผศ.ดร.พรเทพ’ เขาเชื่อว่าโมเดลนี้ จะทำสำเร็จเหมือนสิงคโปร์หรือสหรัฐอเมริกา ด้วยข้อปฏิบัติของคนตัดต้นไม้หากจะดำเนินงานต้องถูกตรวจสอบว่าใบอนุญาตเลขที่เท่าไหร่ สถาบันไหนรับรอง ถ้าไม่มีไม่ผ่านห้ามตัด มีโอเคเซ็นสัญญาทำได้ นี่คืออนาคต หากฝ่าฝืนถูกร้องเรียนถูกยึดใบอนุญาต จะหมดอนาคตทางอาชีพทันที
“ถ้าท่านผู้ว่าได้สร้างฐานของความคิดคนขึ้นมาได้ ว่าการจัดการต้นไม้ต้องทำอย่างไร แล้วให้ฐานความคิดนี้มันสืบทอดไปในอนาคตได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าก็ตามแต่ ต้องทำตามฐานความคิดวิธีการที่เรากำหนดไว้ อนาคตมันต้องเกิดขึ้น
"อย่างสิงคโปร์ก็ไม่ได้สำเร็จที่สมัยลีกวนยู ลีกวนยูเสียไปต้นไม้ก็ยังเล็กอยู่เลย แต่มาสำเร็จที่ลูกเขาคือ ลี เซียนลุง ใช้เวลา 10-15 ปี ต่อมา และวันนี้ก็เหมือนกัน ความสำเร็จที่จะได้เห็นคือการวางรากฐานที่ดีส่งต่อไปยังยุคลูกหลานเรา ซึ่งตอนนี้มันถูกวางรากฐานไว้แล้ว” อาจารย์จากรั้ว ม.เกษตรศาสตร์ ทิ้งท้ายประโยค