ไม่พบผลการค้นหา
‘จุลพันธ์’ ชี้ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ปักธง 1 ปี จุดพลุส่งออกไทย ใช้เศรษฐกิจดิจิทัลดัน One Stop Service ด่านศุลกากรหนองคาย หวังอำนวยความสะดวกให้ประชาชน-ธุรกิจส่งออกเชื่อมตลาด ‘ลาว-จีน’ ฉลุย พร้อมขยายสิทธิพิเศษทางภาษีเต็มสูบ

วันที่ 25 ตุลาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการลงพื้นที่เปิดศูนย์บริการค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service: OSS) ที่จังหวัดหนองคาย โดยระบุว่า ศูนย์บริการค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จฯ นี้ มีแนวทางการพัฒนาทั้งสิ้น 3 แนวทางสำคัญที่จะช่วยลดขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกสินค้าที่เคยซับซ้อนและใช้เวลานาน เพื่อให้ประชาชนได้รับสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดการพัฒนาดังนี้

แนวทางที่ 1) คือการพัฒนาระบบการขออนุญาตส่งออกสินค้า โดยจะเปิดทางให้การขออนุญาตทำได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่องทางเดียว (Single Submission) โดยระบบจะมีการจัดทำ Single Form ร่วมกันเพื่อลดภาระผู้ประกอบการ ใช้การเชื่อมโยงข้อมูลการอนุญาตของแต่ละหน่วยงานเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติ พร้อมทั้งจะจัดเตรียมรายการข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้ทราบว่ามีหน่วยงานใดพร้อมให้ติดต่อสอบถาม 

แนวทางที่ 2) คือการพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าส่งออก โดยศูนย์บริการค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จฯ จะจัดทำมาตรฐาน Green Line ของทุกหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกันและให้ทุกหน่วยงานมอบอำนาจให้กรมศุลกากรเป็นผู้ตรวจสอบแทน เพื่อลดภาระในการตรวจสอบ 

แนวทางที่ 3) คือการพัฒนาระบบการตรวจปล่อยสินค้า ซึ่งจะนำเอาเทคโนโลยี CCTV มาใช้ในการตรวจสอบพาหนะขนส่ง ทะเบียนรถ และอื่นๆ

นายจุลพันธ์ระบุต่อว่า รัฐบาลได้เตรียมระบบ Thailand Trade Journey ที่พัฒนาไว้เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจด้านการนำเข้า ส่งออก ตั้งแต่การขออนุญาตไปจนกระทั้งกระบวนการผ่านแดน ทั้งนี้ ประชาชนผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับความสะดวกทั้งในเชิงข้อมูลด้านการนำเข้าส่งออก ตลอดจนช่องทางติดต่อกับระบบสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการขอใบอนุญาต/ ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ผ่านพิธีการศุลกากรแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที พร้อมตรวจสอบรายการสินค้าที่ถูกควบคุมโดยรัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

นอกจากนี้ Thailand Trade Journey ยังรวบรวมข้อมูลสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึง โดยเชื่อว่าการพัฒนานี้จะเอื้อให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกทั้งรายเก่าและใหม่ดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัวทั้งระบบ นำไปสู่การส่งเสริมศักยภาพการส่งออกสินค้าของไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ ที่ระบุว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 นั้นมูลค่าการค้าที่ผ่านยังประเทศจีนมีมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ถึง 244,175 ล้านบาท เป็นสัญญาณว่าตลาดส่งออกหลักของไทยกำลังฟื้นตัว ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากการส่งออกที่ขยายตัวด้วยเช่นกัน มองว่าการส่งออกสินค้าไปยัง สปป.ลาว เปรียบได้กับการเปิดประตูบานแรกเพื่อนำพืชผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไทยไปสู่ตลาดประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้อย่างเต็มศักยภาพ 

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า นโยบายข้างต้นริเริ่มโดยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีวิสัยทัศน์ว่าการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกทุกมิติที่เกี่ยวกับการติดต่อขอนำเข้า-ส่งออกสินค้าจะส่งเสริมความสามารถในการเติบโตของประชาชนในภาคการเกษตรและผู้ประกอบกิจการไทยผ่านการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้แก่ประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏ รัฐบาลเพื่อไทย ใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงมีความมุ่งมาดที่จะผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงได้ภายใน 1 ปี เพื่อเป็นการนำร่องก่อนเดินหน้าพัฒนาด่านศุลกากรในจังหวัดชายแดนภูมิภาคอื่นๆ อีก 7 จังหวัดต่อไป