ไม่พบผลการค้นหา
'ชวน' ชี้เป้าดิสเครดิตคู่แข่งการเมือง เอาชื่อไปฟ้องประชาชนได้ ว่าโดดประชุมสภาฯ กี่ครั้ง มั่นใจอภิปราย 152 ไม่ล่ม ถ้าล่มก็ไม่มีเวลาแล้ว เหตุสภาฯ เหลือแค่ 1 สัปดาห์

วันที่ 14 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าองค์ประชุมจะครบหรือไม่ โดยระบุว่า การนัดประชุมดังกล่าว เป็นไปตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งญัตติดังกล่าวได้เสนอมาตั้งแต่เดือน ม.ค. โดยรัฐบาลก็มีความเห็นว่า พร้อมจะชี้แจงตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. เป็นต้นไป ซึ่งเดิมทีตนคิดว่าช้าไป แต่เมื่อหารือวิป 2 ฝ่าย ก็เป็นไปตามที่รัฐบาลขอคือวันที่ 15-16 ก.พ. 

ทั้งนี้ ตัวเลขสมาชิกสองฝ่ายมีทั้งสิ้น 419 คน ฝ่ายค้าน 186 ฝ่ายรัฐบาล 233 คน ซึ่งถือว่า รัฐบาลยังมีเสียงข้างมากพอสมควร แต่ก็ยอมรับว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลคุมองค์ประชุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การกำหนดวันและเวลาการอภิปรายก็เป็นไปตามข้อกำหนดของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการประชุมวันพรุ่งนี้ จะมีการถ่ายทอดผ่านทางสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ที่ประชาชนสามารถติดตามได้ และหากการประชุมไม่มีปัญหา ก็จะใช้เวลาได้ 2 วัน 

ชวน กล่าวอีกว่า การอภิปรายตาม ม.152 เป็นการประชุมที่สอบถามข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นี่จึงเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะใช้ชี้แจงข้อเท็จจริง ส่วนการอภิปรายนอกเหนือข้อบังคับเป็นหน้าที่ประธานฯ ในการดูแล

เมื่อถามว่าหากในวันพรุ่งนี้ การประชุมไม่สามารถเปิดได้ จะเลื่อนวันประชุมได้หรือไม่ ชวน ยังมองในแง่ดีว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่องค์ประชุมจะไม่ครบ ส่วนการพิจารณากฎหมายที่ไม่เห็นด้วยแล้วไม่อยู่เป็นองค์ประชุมนั้น ตนมองว่าเป็นการหนีปัญหา แต่ในวันพรุ่งนี้ รัฐบาลกำหนดวันมาเอง ก็น่าจะไม่มีปัญหา จึงเชื่อว่า น่าจะครบองค์ประชุม แต่ยอมรับว่า ก็ไม่แน่นอน ทั้งนี้ก็ไม่เหมือนกับการพิจารณากฎหมายต่างๆ ที่มักมีปัญหาในการลงมติ

เมื่อถามย้ำว่าหากมีปัญหาองค์ประชุมจนล่มจะทำอย่างไร ชวน กล่าวว่า มีเวลาอีก 1 สัปดาห์ก็จะปิดสมัย หากประชุมวันพรุ่งนี้ทำไม่ได้ ก็ให้ สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง หารือวิป 2 ฝ่ายอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีเวลามากไปกว่านี้แล้ว 

เมื่อถามว่าหากพรุ่งนี้เปิดประชุมไม่ได้ จะส่งผลต่อการเมืองในอนาคตอย่างไร ชวน ระบุว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่ก่อนจะสิ้นวาระสภาฯ ก็ไม่มีปัญหา การย้ายพรรคไม่เป็นแบบปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันถือว่า ไม่ปกติ มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นหลายพรรค ไม่เคยเกิดการย้ายพรรคแบบนี้มาก่อน บางคนอภิปรายในสภาฯ ก็ไม่กล้าประกาศชื่อพรรคเดิม เพราะอาจจะมีการย้ายพรรค แต่ที่สำคัญคือไม่มาประชุมและไม่กดบัตรแสดงตน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ดังนั้น จึงเห็นความไม่พร้อมของการประชุม 

“มีหลายคนอยากจะให้ประกาศชื่อสมาชิกที่ไม่เข้าร่วมประชุม ซึ่งก็ไม่ได้ปกปิด หากใครอยากจะมาขอดูตัวเลขก็ได้ รวมถึงคู่แข่งขันสมาชิกที่ประสงค์จะแข่งขันในจังหวัดนั้นๆ ก็มาขอดูได้ว่าคู่แข่งประชุมไปกี่ครั้ง เผื่อเอาไว้ใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้เช่นกัน คนที่ประชาชนเลือกมามีความรับผิดชอบหรือไม่ ผมก็เตือนสมาชิกหลายคนที่มีความมั่นใจว่า อย่าไปมั่นใจ ประชาชนติดตามข้อมูลอยู่ อย่าไปประมาท ขณะนี้ระบบข้อมูลสามารถเจาะไปได้ลึก และคู่แข่งขันก็ไม่อยู่นิ่ง ชื่อผู้ที่ไม่มาประชุมก็เปิดเผยได้ เอาตัวเลขไปบอกประชาชนก็อาจมีผลกระทบต่อคะแนนนิยมได้” ชวน กล่าว

ชวน กล่าวอีกว่า ตนยังไม่ได้ยินเรื่องการล็อบบี้เพื่อล่มการประชุมในวันพรุ่งนี้ (15 ก.พ.) แต่ที่ผ่านมา ก็ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า องค์ประชุมล่ม แต่ก็ทราบว่า ขณะนี้รัฐบาลไม่สามารถจัดการเรื่ององค์ประชุมได้ แม้จะมีเสียงข้างมาก ดังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย เช่นเดียวกับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่เกิดปัญหา ส.ว.ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ซึ่งเพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่ พ.ร.บ.การศึกษา ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 17 ก.พ.นี้ หากต้องการให้ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ผ่าน ต้องอยู่ร่วมกันเป็นองค์ประชุม แต่วุฒิสภามักอ้างว่า อยู่ได้แค่ 20.00-21.00 น.