ไม่พบผลการค้นหา
ประธานสมาพันธ์ อบจ. อีสาน อ่านศึกเลือกตั้ง’66 คาด ‘เพื่อไทย’ ยืนพื้น 220-250 เสียงส่วน ‘ก้าวไกล’ กวาดคนรุ่นใหม่ในเขตเมืองของจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัย

โค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง บรรยากาศทางการเมืองกลับมาคึกคัก พรรคเพื่อไทยกระแสสูงชูธง ประกาศ "แลนด์สไลด์" 310เสียง ฟากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อัดมาตรการลดแลก-แจกแถม ทิ้งทวนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนประกาศยุบสภาฯ ในห้วง 1 สัปดาห์สุดท้าย

‘วอยซ์’ ชวน "ชูพงษ์ คำจวง" นายก อบจ. สกลนคร และประธานสมาพันธ์ อบจ. ภาคอีสาน 20 จังหวัด สำรวจความนิยมก่อนนับถอยหลังเข้าคูหาช่วงกลางปี 2566 

เขาเล่าถึงบทบาท นายก อบจ.ในสนามเลือกตั้งปี 2566 ว่า อบจ. แต่ละแห่งจะมีความเป็นอิสระ โดยยังคงติดตามความเคลื่อนไหวการหาเสียงแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด สำหรับพื้นที่จังหวัดสกลนครมี ส.ส. 7คน ฐานความนิยมยังเป็นของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก รวมถึงกระแสโดยรวมในภาคอีสานที่มี 132 ที่นั่งส.ส.ให้ชิงชัยยังคงเป็นสีแดง 

ปัจจัยการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส. ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยปรับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ชูพงษ์ วิเคราะห์ว่า ชาวบ้านจะดู "พรรค" ก่อน "ตัวบุคคล" หากพรรคการเมืองที่มีกระแสสความนิยมสูง มีความละเอียดในการคัดสรรผู้สมัคร ส.ส. ที่ใส่ใจการลงพื้นที่รับฟังปัญหาและหาทางแก้ไขความเดือนร้อนของชาวบ้านก็จะได้รับเสียงสนับสนุนทั้งการเลือกแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ดังนั้น ถ้าพรรคมีกระแสตัวผู้สมัคร ส.ส. โดดเด่น ก็จะได้รับเลือกทั้ง 2 ใบ 

แพทองธาร เศรษฐา 1-DB8BF82A9B94.jpeg

ชูพงษ์ กล่าวว่า แต่หากพรรคมีกระแส แต่ผู้สมัคร ส.ส. ไม่ขยันลงพื้นที่ก็จะส่งผลต่อผู้สมัคร ส.ส. ที่ขยันลงพื้นที่ให้ได้รับความไว้ใจจากประชาชนมากกว่าแม้กระแสพรรคอาจจะดีไม่เท่ากับอีกพรรคหนึ่ง เรียกว่า หากผู้สมัคร ส.ส. มาทำพื้นที่ในช่วงหลังจับเบอร์ เพียง 60 วัน ช่วงมี พรฎ. การเลือกตั้ง แม้มีมีกระแสพรรคหนุนแต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อการได้รับความนิยมของชาวบ้าน 

"หากประมาทก็แพ้และไม่อาจโทษชาวบ้านว่าแพ้เงินได้ เพราะตัวผู้สมัครส.ส. ไม่มีความสม่ำเสมอ กระสุนไม่ได้ทำให้ชนะเสมอไป เนื่องจากมีกระสุนก็ต้องมีกระแสประกอบกันด้วย เช่นเดียวกัน ถ้ามีเพียงกระสุนไม่มีกระแสก็ยากที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง การเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เหมือนเลือก อบจ. อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ตัวผู้สมัคร ส.ส. ต้องทำการบ้านให้มากกว่าความเป็นพรรคต้องเข้าใจปัญหาความต้องการของพื้นที่ ไม่ใช่ไฟไหม้ป่าค่อยเห็นหน้าหนู ซึ่งส่วนใหญ่ชอบทำแบบนี้ การหาเสียงเลือกตั้งต้องไปด้วยจิตวิญญาณผู้แทนประชาชน การทำงานการเมืองต้องพิสูจน์ตัวเอง" นายก อบจ. สกลนคร กล่าว

สำหรับสัดส่วนการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของประชาชน แบ่งออกเป็น 1. ความคุ้นเคยตัวผู้สมัครฯ 30 เปอร์เซ็นต์ต้องทำการบ้านในพื้นที่ก่อนเข้าสู่ศึกเลือกตั้งตั้งแต่ยังไม่มีเบอร์ ความนิยมของพรรค 40 เปอร์เซ็นต์ จากการนำเสนอนโยบายแนวทางการบริหาร และการจัดตั้งหัวคะแนนที่ดี 30 เปอร์เซ็นต์ จะมีผลอย่างมากหากได้หัวคะแนนที่มีบารมี ซึ่งจะส่งอิทธิพลผลต่อการตัดสิใจของชาวบ้านโดยบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้กระสุนจำนวนมาก ทั้งนี้ กรณีผู้สมัคร ส.ส. ที่มีการย้ายค่ายย้ายฝั่ง ก็ไม่มีหลักประกันว่า จะได้รับเลือกเหมือนก่อน เนื่องมาจากชาวบ้านจะเห็นความไม่แน่นอนจากการย้ายไปมา  

ขณะที่ กระแสแลนด์สไลด์ตามข้อมูลจากผลโพล และความนิยมอื่น ๆ ของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศความเชื่อมั่นที่ ส.ส. 310 ที่นั่งนั้น นายก อบจ. สกลนคร มองว่า กระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยอย่างเดียวน่าจะอยู่ 220 - 250 เสียง เพราะแต่ละพื้นที่ต่อสู้กันอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้สมัคร ส.ส. ฝั่งรัฐบาลที่ถือว่า มีเสบียงเยอะกว่าก็ย่อมมีความพร้อม ความได้เปรียบในระดับหนึ่ง แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในการเลือกตั้ง 

"หากมองเฉพาะภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยจะยังคงมาเป็นที่หนึ่ง โดยอันดับสองเป็นพรรคภูมิใจไทย ส่วนพรรคก้าวไกลจะครองเขตเมือง โดยเฉพาะเมืองหัวเมืองใหญ่ที่มีมหาวิทยาลัย จะได้เสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่แทบทั้งหมด ซึ่งคนรุ่นใหม่จะมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนคนรุ่นก่อน พ่อแม่ ญาติพี่น้องจะไม่มีส่วนในการตัดสินใจของพวกเขาที่มีความเป็นตัวของตัวเองแต่อย่างใด เพราะสามารถเข้าถึงและเสพข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ได้มากกว่า ในภาพรวมรัฐบาลต่อไปอาจยังระบุไม่ได้ว่า ใครจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เชื่อว่ายังคงเป็นลักษณะรัฐบาลผสม ไม่ต่ำกว่า 5 พรรค"ประธานสมาพันธ์ อบจ. ภาคอีสาน กล่าว

ผู้สมัคร ส.ส. กทม.พรรคก้าวไกล