ไม่พบผลการค้นหา
จนท.กรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม เข้าพบมารดา 'จ่านิว' สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมที่ถูกทำร้ายร่างกาย เพื่อแจ้งเกณฑ์การเข้าสู่มาตรการคุ้มครองพยาน และสิทธิขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปโรงพยาบาลมิชชั่น เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2562 เพื่อให้คำแนะนำข้อกฎหมาย รวมถึงวิธีการเข้าสู่มาตรการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 แก่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ 'จ่านิว' นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายทำร้ายร่างกายเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

ข้อความในเฟซบุ๊กของนายธวัชชัยระบุว่า เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ต้องแจ้งสิทธิแก่ 'จ่านิว' ซึ่งสามารถขอรับเงินค่าตอบแทนในฐานะผู้เสียหาย อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น ซึ่งเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกภายใต้นโยบาย “Justice Care-ยุติธรรมใส่ใจ“

เจ้าหน้าที่ได้พบกับนางพัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของ 'จ่านิว' จึงได้แจ้งสิทธิและรับคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา รวมถึงแจ้งหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองพยาน โดยมีพันตำรวจเอกชาญวิทย์ พุ่มพวง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 3 ร่วมรับฟังการแจ้งสิทธิดังกล่าวด้วย ซึ่งเบื้องต้น มารดาจ่านิวมีความประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพยาน แต่เนื่องจากขณะนี้จ่านิวยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ มารดาจึงขอให้เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ติดต่อกลับมาในภายหลังอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมเห็นว่า กรณีของจ่านิวยังอยู่ในชั้นของคดีอาญาอื่นที่ไม่ได้กำหนดอยู่ในท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษฯ จึงยังไม่สามารถสามารถเป็นคดีพิเศษได้ แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้สั่งการให้มีการสืบสวนตามทางข้างในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าคดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษมาตรา 23/1 วรรคสอง คู่ขนานไปกับการปฎิบัติงานของฝ่ายตำรวจ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและสนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ คดีต่างๆ จะเป็นคดีพิเศษได้ก็ต่อเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคำร้อง และต่อมาคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้รับเป็นคดีพิเศษ โดยต้องมีคะแนนสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมด และคดีนั้นต้องเป็นคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือคดีที่มีการกระทำความผิดหลายเรื่องต่อเนื่องกันหรือเกี่ยวพันกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนสำหรับความผิดบทอื่นหรือเรื่องอื่นด้วย และให้ถือว่าเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) จึงจะเป็นคดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินคดีได้

จ่านิว สิรวิชญ์ 6997_334325524145418_8489794319937437696_n.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: