ไม่พบผลการค้นหา
'จาตุรนต์' โพสต์เฟซบุ๊กระบุ รัฐบาลสั่งรถไฟฟ้าหยุดให้บริการ เป็นการลุแก่อำนาจ อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ฟังไม่ขึ้น ชี้ทำเพื่อเป็นการสกัดกั้นการชุมนุม สร้างความเสียหายแก่ประชาชนเป็นล้านๆ คนได้โดยไม่มีเหตุจำเป็น ขณะมองเจ้าหน้าที่จับกุม 80 ราย เป็นแรงบีบคั้นให้ประชาชนออกมาชุมนุมกันทั่วประเทศ

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงกรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้า MRT ประกาศหยุดให้บริการชั่วคราว โดยระบุว่า เมื่อวานนี้ (17 ต.ค. 2563) รถไฟฟ้า MRT และ BTS หยุดวิ่งกันหมด พอนักศึกษาประกาศชวนให้คนไปรวมตัวกันที่บางสถานี ก็มีการปิดสถานีต่างๆ ต่อมาก็ปิดมากขึ้น จนปิดแทบทั้งระบบทั้งๆ ที่นักศึกษาเขาไม่ได้จะไปทำอะไรกับรถไฟฟ้าหรือสถานีต่างๆ แต่อย่างใดเลย

เข้าใจว่ารัฐบาลก็รู้ว่านักศึกษาไม่ได้คิดจะทำอะไรไม่ดีกับรถไฟฟ้า แต่รัฐบาลไม่ต้องการให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปจุดชุมนุมได้สะดวก จึงสั่งให้รถไฟฟ้าหยุดบริการ ปัญหาคือการหยุดบริการรถไฟฟ้าทั้งระบบแบบนี้ทำให้คนเดือดร้อนกันทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 

ล่าสุดวันนี้รัฐบาลก็สั่งให้หยุดบริการบางสถานีอีกจึงมีคำถามว่ารัฐบาลมีอำนาจจะสั่งให้รถไฟฟ้าหยุดให้บริการได้ตามอำเภอใจจริงหรือ

รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งสาธารณะ มีระบบสัมปทาน ซึ่งหมายความว่าผู้รับสัมปทานจากรัฐจะต้องให้บริการประชาชนตามสัญญาที่ให้ไว้ บริการสาธารณะนี้ครอบคลุมผู้ใช้นับล้านคน ที่พึงได้รับบริการ การจะหยุดให้บริการจึงเป็นเรื่องที่จะต้องมีสาเหตุจำเป็นยิ่งยวด ไม่ใช่นึกจะหยุดก็หยุด

ส่วนรัฐบาลก็ไม่ใช่นึกจะสั่งให้หยุด ก็สั่งโดยไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสั่งให้รถไฟฟ้าหยุดบริการเพื่อสกัดกั้นการชุมนุมที่กำลังต่อต้านรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีแม้จะอ้างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ไม่ควรจะมีอำนาจสร้างความเสียหายแก่ประชาชนเป็นล้านๆ คนได้โดยไม่มีเหตุจำเป็น

จาตุรนต์ ระบุว่า ในอดีตเคยมีการร้องต่อศาลให้ยกเลิกคำสั่งที่รัฐบาลออกโดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลายเรื่องก็ไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผล แต่ก็ถือว่าเคยเกิดขึ้นเป็นตัวอย่าง กรณีนี้มีเหตุผลอย่างมากที่ระบบกฎหมายของประเทศนี้ไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลทำความเสียหายเดือดร้อนให้กับทั้งประชนและภาคเอกชนแบบนี้ ถ้ามีใครร้องต่อศาลก็น่าสนใจว่าผลจะออกมาอย่างไร

ถ้าระบบกฎหมายปัจจุบันไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ ต่อไปก็ต้องแก้กฎหมายคือตัว พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เสียใหม่ ไม่ให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรฉุกเฉินร้ายแรงและต้องให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบถ่วงดุลการใช้กฎหมายนี้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนฟ้องร้องต่อศาลได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ แต่เฉพาะหน้าคงต้องโต้แย้งกันด้วยเหตุผลและให้การเมืองจัดการกับการเมืองไปก่อน

ข้อสรุปก็คือการที่รถไฟฟ้าหยุดบริการไม่ใช่เกิดจากการกระทำของนักศึกษา การที่รัฐบาลสั่งให้รถไฟฟ้าหยุดให้บริการเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายละเมิดสิทธิ์ของทั้งเอกชนและประชาชนโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น เป็นการลุแก่อำนาจ การอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ฟังไม่ขึ้น อีกทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเองก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ผู้ที่ต้องรับผิดต่อความเสียหายครั้งนี้และต้องยุติการสร้างความเสียหายขึ้นอีกคือรัฐบาล โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ที่สนใจแต่รักษาอำนาจของตนเองโดยไม่เคยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนแต่อย่างใด



ชี้ เจ้าหน้าที่จับกุม 80 ราย แรงบีบคั้นปชช.ชุมนุมทั่วประเทศ

ล่าสุด จาตุรนต์ โพสต์ข้อความถึงกรณีเจ้าหน้าที่พยายามจับกุมดำเนินคดีกับแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมนักเรียน นักศึกษา ประชาชน กับเสียงเรียกร้อง 'ปล่อยเพื่อนเรา' ระบุว่า ทำไมเสียงเรียกร้อง 'ปล่อยเพื่อนเรา' จึงดังขึ้นทุกที ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.นี้เป็นต้นมาจนถึงเที่ยงวันนี้ มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีมากถึง 80 คน แยะแยะตามสภาพของผู้ถูกจับได้ตามภาพข้างล่าง

ต้องบอกว่าทั้ง 80 รายนี้ ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมทั้งสิ้น แต่ถ้าจะจำแนกอีกแบบ ก็คงแบ่งได้ทำนองนี้ครับ

1.เป็นการตั้งข้อหาเกินกว่าเหตุเช่นการตั้งข้อหาฝ่าฝืน ม.116 ทั้งๆ ที่เป็นการแสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลหรือบางข้อหาที่ร้ายแรงกว่านั้น

2.เป็นการตั้งข้อหาสารพัดที่จะคิดได้เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุม กระทั่งจับกุมซึ่งหน้าโดยไม่มีหมายจับและไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

3.เป็นผลจากการออกหมายจับแบบง่ายๆ ประกันตัวได้บ้าง ไม่ได้บ้าง โดยไม่มีใครทราบหลักเกณฑ์ในการพิจารณา

4.เป็นการจับโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ไม่ต้องตั้งข้อหา ไม่แจ้งข้อหา ไม่ให้พบทนาย ไม่แสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่และอุ้มไปโดยพลการหรือนำตัวไปขังที่ใดก็ได้ตามเจ้าหน้าที่แต่จะกำหนด

5.เป็นการจับและดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่คำสั่งตามประกาศฯ และตัวประกาศฯ เองไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่

ที่เป็นจุดร่วมกันอีกอย่างของ 80 รายนี้ก็คือการจับกุมคุมขังและดำเนินคดีเหล่านี้ทำให้นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากต่างมีข้อสรุปว่ารัฐบาลนี้ไม่ชอบธรรมและระบบยุติธรรมไม่เป็นธรรมแต่เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาล

การจับกุมคุมขังทั้ง 80 รายนี้กำลังเป็นแรงบีบคั้นอย่างสำคัญให้นักศึกษาและประชาชนชุมนุมกันทั่วประเทศมากขึ้นๆ ด้วยข้อเรียกร้องข้อหนึ่งที่ว่า 'ปล่อยเพื่อนเรา'



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :