ไม่พบผลการค้นหา
Kagome ประกาศยุติการนำเข้ามะเขือเทศจากซินเจียงของจีน เนื่องจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน นักวิเคราะห์ชี้ นี่คือของขวัญชิ้นงามที่ญี่ปุ่นต้องการมอบให้กับสหรัฐฯ ก่อนมีประชุมร่วมกันของสองผู้นำ ณ ทำเนียบขาว 16 เม.ย.นี้

​บริษัท Kagome ผู้ผลิตน้ำจิ้มและซอสรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี 2442 ซึ่งมีอายุครบ 122 ปีในปีนี้ กลายเป็น บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายเเรกที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านปัญหาด้าน 'สิทธิมนุษยชน' ที่ชาวอุยกูร์ในซินเจียงของจีน ต้องเผชิญ ด้วยการประกาศ ยุติการนำเข้ามะเขือเทศจากพื้นที่ดังกล่าวเพื่อแสดงจุดยืน หลังจากที่ก่อนหน้านี้แบรนด์สินค้าระดับโลกมากมายต่างตบเท้าออกมาบอยคอตซินเจียงแล้ว เช่น Uniqlo ZARA H&M Adidas Nike ฯลฯ 

ตัวแทนจาก Kagome ระบุว่า นอกจากปัจจัยหลักอย่างต้นทุนและคุณภาพ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่ผ่านมาทางบริษัทได้มีมาตรการตรวจเยี่ยมโรงงานและพื้นที่ปลูกมะเขือเทศอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีการยืนยันว่ามะเขือเทศที่ทางบริษัทใช้ในอดีตนั้นไม่ได้ถูกผลิตในสิ่งแวดล้อมที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นแต่อย่างใด 

ปัจจุบัน Kagome มีการนำเข้ามะเขือเทศจากหลายหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ และในภูมิภาคยุโรป โดยบนหน้าเว็บไซต์ของ Kagome มีการเขียนระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มะเขือเทศจากซินเจียงของประเทศจีนคือมะเขือเทศคุณภาพเยี่ยมระดับโลก 

อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ทางบริษัทได้มีการลดการนำเข้ามะเขือเทศจากซินเจียงมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนการสั่งระงับทั้งหมดในครั้งนี้ โดยมีนักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุหนึ่งของการตัดสินใจอาจเป็นเพราะที่ผ่านมา Kagome พึ่งพามะเขือเทศจากซินเจียงในปริมาณที่น้อยมากอยู่แล้ว คาดว่าจะอยู่ที่ปริมาณเพียง 1% เท่านั้น การระงับจึงไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก


ยืนข้าง 'สิทธิมนุษยชน' เอาใจสหรัฐฯ ?

การส่งสัญญาณแสดงจุดยืนของญี่ปุ่นต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของแรงงานอุยกูร์ในซินเจียงในตอนนี้ มีความเป็นไปได้ว่านี่คือการ 'มอบของขวัญ' ให้กับประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะมีขึ้นในวันที่ 16 เม.ย.นี้ ณ ทำเนียบขาว ทำให้ โยชิฮิเดะ ซุกะ กลายเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เข้าพบ โจ ไบเดน หลังขึ้นดำรงตำแหน่ง

AFP - โจ ไบเดน โยชิฮิเดะ ซุกะ

แน่นอนว่าจะมีการพูดถึงเรื่องปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค รวมถึงประเด็นการผลักดันให้ญี่ปุ่นแสดงจุดยืนสนับสนุนอธิปไตยของไต้หวัน จนอาจนำไปสู่การทำสนธิสัญญาระหว่างกันด้วยซ้ำ และแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว 'ของขวัญ' ที่ว่านั้นคืออะไร แต่การแสดงตัวต่อต้านปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของภาคเอกชนและธุรกิจของญี่ปุ่นมีค่าไม่ต่างอะไรกับของขวัญที่ต้องการจะมอบให้สหรัฐฯ อยู่ดี 

อย่างไรก็ตาม Muji อีกหนึ่งแบรนด์สินค้าระดับโลกจากญี่ปุ่นที่ถูกวิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องว่ายังคงยืนยันจะใช้ฝ้ายจากซินเจียงในการผลิตสินค้าต่อไป กลับมีแนวทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะไม่มีทีท่าออกมาแบนการทำธุรกิจกับซินเจียงแล้ว ยังมีการแถลงการณ์ยืนยันว่าหลังการตรวจสอบโรงงานต่างๆ ในภูมิภาค ไม่พบปัญหาชัดเจนรุนแรงแต่อย่างใด และทางบริษัทแม่อย่าง Ryohin Keikaku Co Ltd ยังชี้ด้วยว่ากำลังมองหาหนทางที่จะขยายการเติบโตในตลาดจีนต่อไป 

โจ้ ชลวิศว์ วงศ์ศรีวอ
พิธีกร - ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
39Article
1Video
3Blog