พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุผ่านเฟซบุ๊ก 'พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu' เสนอให้มีการยกเลิกวุฒิสภา และใช้ระบบสภาเดี่ยวในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่า 'วุฒิสภา' ปัจจุบันที่มีสมาชิก 250 คนจากการแต่งตั้งโดย คสช.เป็นสัญลักษณ์และการรวมกันของความวิปริตและไม่ชอบธรรมของระบอบการเมืองปัจจุบัน
พริษฐ์ กล่าวว่า ระบบสภาเดี่ยวที่มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แม้อาจเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ในเกือบ 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตย และมีความคล้ายไทยในความเป็นรัฐเดี่ยวและการปกครองโดยระบบรัฐสภา
พริษฐ์ ยังเผยถึง 3 เหตุผลที่ควรจะเลิก ส.ว. ว่า 1.ต้นทุนทางการเงินของการมีวุฒิสภาเป็นเงินจำนวนไม่น้อย 2.ต้นทุนในแง่ของเวลาและความพยายามที่จะต้องใช้ในการหาสมดุลระหว่างอำนาจของวุฒิสภามีและที่มาของสมาชิกนั้น ก็ไม่น้อยเช่นกัน และ 3.การมีองค์กรอย่างวุฒิสภา อาจเป็นรูปแบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะบทบาททั้งสามอย่างที่วุฒิสภาเคยมีนั้น อาจมีส่วนอื่นของสังคมที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่า
เนื้อหาทั้งหมดระบุดังนี้
"ถ้านับตั้งแต่การเลือกตั้งต้นปีที่แล้ว ที่ผมได้ลาออกจากพรรคต้นสังกัดและเริ่มขับเคลื่อนเรื่องการ #แก้รัฐธรรมนูญ ผ่านกลุ่ม รัฐธรรมนูญก้าวหน้า - Conlab ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญได้รับความสนใจสูงสุดในสังคม
เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว บทสนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมได้เปลี่ยนจากคำถามว่า "ควรแก้หรือไม่" มาเป็นคำถามว่า "ควรแก้อะไร"
แม้ว่าสิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แต่ก็เป็นความท้าทายในการแสวงหา "จุดร่วม" ในกลุ่มที่อยากแก้รัฐธรรมนูญ ว่าต้องการแก้ประเด็นอะไรเป็นสาระสำคัญ
- บางกลุ่ม – โดยเฉพาะในรัฐสภา – พยายามเสนอเรื่องการแก้มาตรา 256 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตเป็นไปได้ง่ายขึ้น (ซึ่งจำเป็น)
- บางกลุ่ม – โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ – พยายามมุ่งเป้าไปที่การกำจัดการมีอยู่และการผูกมัดของ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 (ซึ่งจำเป็นเช่นกัน)
- ในขณะที่บางกลุ่ม – โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา - ได้เสนอข้อเสนอเพิ่มเติมที่ไม่เคยถูกพูดคุยกันในสังคมอย่างจริงจังและเปิดเผยมาก่อน
แต่สำหรับผม ผมมองว่า "จุดร่วม" ที่ก้าวหน้ามากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงต่อโครงสร้างปัจจุบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็น "จุดร่วม" ที่มีโอกาสที่จะหาฉันทามติได้ในทุกกลุ่มคนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยคือ การ "ยกเลิกวุฒิสภา" และใช้ระบบ #สภาเดี่ยว
หากมีสถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นทั้งสัญลักษณ์และการรวมกันของความวิปริตและไม่ชอบธรรมของระบอบการเมืองปัจจุบัน สถานที่นั้นคือ วุฒิสภา ที่มีสมาชิก 250 คนจากการแต่งตั้งโดย คสช. ไม่ว่าจะเป็น
1.การขัดหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมี "1 สิทธิ์ 1 เสียง" เท่ากันใจการกำหนดอนาคตประเทศ - โดยการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน มีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน ถ้าเราคำนวณง่ายๆว่า 500 ส.ส. มาจากเสียงของประชาชน กว่า 38 ล้านเสียง ในขณะที่ 250 ส.ว. มาจากการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสรรหา 10 คน เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันให้คณะกรรมาการสรรหาวุฒิสภาหนึ่งคน มีอำนาจมากกว่าประชาชนหนึ่งคน เกือบ 2 ล้านเท่า (วิธีการคำนวณ : https://www.facebook.com/254171817929906/posts/3772237902789929/?d=n)
2.การเป็นสถาบันที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ซับซ้อน - ไม่ว่าจะเป็นการที่ 6 ใน 10 ของคณะกรรมการสรรหาวุฒิสภา แต่งตั้งตนเองเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือจะเป็นการสงวนเก้าอี้วุฒิสภา 6 เก้าอี้ไว้ให้กับผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำที่รับเงินเดือนเต็มเวลาอยู่แล้ว
3.การเขียนกฎหมายเพื่อ 'ล็อก' ทุกส่วนของโครงสร้างของรัฐ ให้อยู่ในการควบคุมของตนเอง - เช่น การให้วุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. มีอำนาจไม่พียงแค่ในการร่วมลงคะแนน แต่มีอำนาจในการยับยั้ง (vetoing powers) ทั้งการรับรองผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม
4.การให้ความสำคัญหรือการใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับ "ความมั่นคง" เหนือสิ่งอื่นใด – 40% ของสมาชิกวุฒิสภาเป็นทหารหรือตำรวจ ทั้งๆ ที่วุฒิสภาควรเป็นตัวแทนของผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาอาชีพ
5.การปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับหน้าที่ที่ควรจะเป็น - ในขณะที่วุฒิสภามีหน้าที่หลักในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร แต่เราจะเห็นว่าจากเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาทั้งหมด 145 มติ ส.ว.ให้ความเห็นชอบทั้ง 145 มติ โดยมีค่าเฉลี่ยการลงมติเห็นชอบถึง 96% (ข้อมูลเพิ่มเติม : https://ilaw.or.th/node/5663)
การแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ ก็ตาม ที่ไม่พูดถึงวุฒิสภา – ซึ่งเป็นแก่นกลางของระบบการเมืองปัจจุบัน – จึงถือว่าไม่เพียงพอ
ดังที่เห็นได้ทั่วโลก การสร้างวุฒิสภาที่เป็น "ประชาธิปไตย" ไม่ได้มีเพียงสูตรเดียว แต่หลักสากลที่ถูกใช้ในการออกแบบ คืออำนาจที่วุฒิสภามีนั้น ต้องสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยในที่มาของสมาชิกวุฒิสภา
สภาขุนนาง (วุฒิสภา) ยังคงดำรงอยู่ได้ในสหราชอาณาจักร เพราะว่าถึงแม้จะประกอบไปด้วยสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด แต่ก็มีอำนาจเพียงเล็กน้อย สิ่งที่ทำได้มากที่สุดในกระบวนการนิติบัญญัติคือการชะลอร่างกฎหมายที่ผ่านโดยสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ได้สูงสุดเป็นเวลาหนึ่งปี
ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาให้อำนาจนิติบัญญัติแก่วุฒิสภามากกว่า เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภามีที่มาที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า - สมาชิกวุฒิสภาได้รับเลือกตั้งมาเพื่อเป็นผู้แทนของรัฐต่าง ๆ ในระบบสหพันธรัฐ
ถ้าจะให้สมการของอำนาจและที่มาของวุฒิสภาไทยมีความสมดุลกัน หลายคนอาจมองว่าประเทศไทยยืนอยู่บนทาง 2 แพร่ง ระหว่าง (1) เลือกรูปแบบคล้ายๆกับสหราชอาณาจักรโดยการคงการแต่งตั้งต่อไป แต่ไปลดอำนาจของวุฒิสภาลงอย่างมากเพื่อให้สมดุลกับที่มาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือ (2) เลือกรูปแบบคล้ายๆกับสหรัฐอเมริกาโดยกำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (คล้ายกับที่ประเทศไทยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540) เพื่อให้ความชอบธรรมกับอำนาจที่มีอยู่
แต่อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าประเทศไทยมีทางเลือกที่ 3 ที่น่าจะแก้ปัญหาได้เหมาะสมมากกว่า คือการยกเลิกการมีวุฒิสภา และเปลี่ยนรูปแบบของฝ่ายนิติบัญญัติจากระบบสองสภา ที่มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นระบบสภาเดี่ยวที่มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
ถึงจะใหม่สำหรับหลายคนในประเทศ แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ในเกือบ 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตย และมีความคล้ายไทยในความเป็นรัฐเดี่ยวและการปกครองโดยระบบรัฐสภา
ผมยอมรับว่าตอนที่ผมนำเสนอเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในการเสวนาที่จัดโดย New Consensus เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หาดใหญ่เมื่อปีที่แล้ว (https://ilaw.or.th/node/5376) ผมได้รับเสียงตอบรับที่แบ่งกันระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่ยังต้องการวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ผมมีความมั่นใจมากขึ้นกับข้อเสนอนี้
1.ต้นทุนทางการเงินของการมีวุฒิสภาเป็นเงินจำนวนไม่น้อย
จากการบวกเงินเดือนของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน เงินเดือนของคณะทำงานตามที่กฎหมายกำหนด ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกี่ยวของ และอีก 1,300 ล้านบาทที่ใช้ในกระบวนการสรรหา ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็มากกว่า 1,000 ล้านต่อปี แล้ว (ตอนแรกผมจะบวกค่าเบี้ยประชุมเข้าไปด้วย แต่ตัดสินใจที่จะไม่ หลังผมเห็นสถิติการเข้าประชุมของสมาชิกวุฒิสภาหลายคน)
ในช่วงเวลาที่งบประมาณของประเทศกำลังจะถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความจำเป็นในการกระตุ้นทางการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิค-19 การใช้จ่ายไปกับองค์กรที่ล้มเหลวในการทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนั้น ฟังดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไร
2.ต้นทุนในแง่ของเวลาและความพยายามที่จะต้องใช้ในการหาสมดุลระหว่างอำนาจของวุฒิสภามีและที่มาของสมาชิกนั้น ก็ไม่น้อยเช่นกัน
นิวซีแลนด์ได้มีความพยายามที่จะทำให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ก็ต้องพบกับความยากลำบากที่จะหากระบวนการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกลางทางการเมืองจริง ๆ ส่งผลให้มีการเสนอให้ยกเลิกวุฒิสภาในปี 1951 / สวีเดนก็ได้ยกเลิกวุฒิสภาในปี 1970 หลังจากวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งที่มีลักษณะทางการเมืองคล้ายคลึงกัน ส่งผลให้มีการใช้อำนาจนิติบัญญัติทับซ้อน
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเรา แทบจะไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้เรามั่นใจได้เลยว่ากระบวนการของเราจะเร็วกว่า ราบรื่นกว่า หรือจะประสบความสำเร็จดีกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะเคยมีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดนั้น แต่ก็ยังพบกับข้อกล่าวหาว่ากลายเป็นสภาผู้แทนราษฎรจำลอง ที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มการเมืองเดียวกันกับที่ครอบงำสภาล่าง
3.(เหตุผลที่ผมมองว่าสำคัญที่สุด) การมีองค์กรอย่างวุฒิสภา อาจเป็นรูปแบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะบทบาททั้งสามอย่างที่วุฒิสภาเคยมีนั้น อาจมีส่วนอื่นของสังคมที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่า
3.1. ในบทบาทนิติบัญญัติ
- หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างก้าวกระโดด การคงไว้ซึ่งกระบวนการนิติบัญญัติที่ต้องผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอาจทำให้กฎหมายของประเทศไทยไม่มีความคล่องตัวพอในการปรับเปลี่ยนให้ทันตามกระแสโลกในปัจจุบัน เช่น กว่ากฎหมายฉบับหนึ่งจะผ่านทั้งสองสภาออกมาเพื่อมาส่งเสริมหรือกำหนดขอบเขตของเทคโนโลยีชิ้นใดชิ้นหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็น เงินดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ หรือเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล) เทคโนโลยีเหล่านั้น อาจจะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีใหม่ๆไปแล้วก็เป็นไปได้
- ถ้าเรามองว่าวุฒิสภาจำเป็นต้องมีอยู่เพื่อให้พื้นที่กับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางกฎหมายต่าง ผมมองว่ากลไกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่แล้ว ก็สามารถถูกปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อเพิ่มพื้นที่ตรงนี้ได้ และอาจจะตรงจุดมากกว่า เนื่องจากเป็นการให้พื้นที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการเสนอหรือยกร่างกฎหมาย
3.2. ในบทบาทตรวจสอบรัฐบาล
– ด้วยวิวัฒนาการของโซเชียลมีเดียที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ก็ทำให้เกิดคำถามว่าการพึ่งพาบุคคลสองร้อยกว่าคนในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดหรือไม่ ถ้าประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการดำเนินงานของรัฐที่ละเอียดและที่ละเอียดละอ่อนขึ้น บวกกับการมีกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (whistleblowers) และแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการรวบรวมข้อมูลโดยประชาชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (crowdsourcing) ประชาชนโดยรวมอาจจะสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลได้ดีกว่า ส.ว. สองร้อยกว่าคน ก็เป็นได้ ไม่ว่า สองร้อยกว่าคนนี้จะมีความเชี่ยวชาญแค่ไหน
3.3. ในบทบาทรับรองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
– เพื่อให้มีความยึดโยงกับเสียงของประชาชนและเพื่อรับประกันกว่าอย่างน้อยประชาชนมีส่วนร่วมโดยอ้อม บทบาทนี้อาจสมควรตกเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เพื่อรับประกันถึงความเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองใด เราสามารถกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ ว่าผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องได้รับการรับรองจากทั้งเสียงข้างมากของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และเสียงข้างมากของ ส.ส. ฝ่ายค้าน
ดังนั้น ระบบสภาเดี่ยว ไม่เพียงแต่จะสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันมากกว่าในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ แต่ระบบสภาเดี่ยว จะกำจัดองค์กรที่ – โดยเฉพาะในปัจจุบัน - ได้ถูกนำมาลดทอนความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย และสืบทอดอำนาจของกองทัพและองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ตอนผมยื่นข้อเสนอนี้ต่อสาธารณะเมื่อปีที่แล้ว เรื่องนี้ถูกมองโดยบางฝ่ายว่าก้าวหน้าหรือไปไกลเกินกว่าที่ระบบการเมืองไทยจะรับได้ แต่ด้วยบรรยากาศการเมือง ณ ปัจจุบัน ที่เพดานของข้อเสนอของหลากหลายกลุ่มถูกยกระดับเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน การยกเลิกวุฒิสภาและการหันไปใช้ระบบสภาเดี่ยว อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นต่ำ หรือ “A New Minimum” ที่จะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของผู้มีอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญ และถูกยอมรับได้โดยผู้ที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง
การแก้ไขมาตรา 256 – ในขณะที่จำเป็น - อาจไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะตามมาหากไม่ได้ควบคู่ไปกับการแก้ไขในประเด็นเนื้อหาอื่น ๆ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน – ในขณะที่จำเป็น - เป็นเพียงการผลักดันกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่อาจรับประกันเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยเสมอไป ยิ่งถ้ากระบวนการไม่ได้ถูกดำเนินการบนกติกาที่เสรีและเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย แต่กลับถูกแทรกแซงโดยอำนาจรัฐที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (กระบวนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด)
การยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและจำเป็น แต่สิ่งนี้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ในระยะยาว เนื่องจากเป็นอำนาจของบทเฉพาะกาลที่จะมีอยู่อีกเพียง 3-4 ปี
มีเพียงการยกเลิกวุฒิสภาเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างตรงจุด
อะไรที่น้อยกว่านี้ (ถึงจำเป็นต้องแก้) อาจไม่สามาถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างแท้จริง
อะไรที่ไกลกว่านี้ (ถึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยและรับฟัง) อาจเป็นเรื่องยากที่จะรวบรวมฉันทามติได้ แม้ในหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
ถ้าพวกเราสามารถร่วมกันนำเสนอระบบสภาเดี่ยวให้เป็น “วิถีใหม่” สำหรับการเมืองไทย ตรงนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำพาประเทศไทยของเราไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
ป.ล. สำหรับใครที่ยังกังวลว่ากลไกการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลจะไม่สมบูรณ์หากไม่มีวุฒิสภา ผมขอฝากข้อคิดทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งเดียวที่อันตรายกว่าการไม่มี ส.ว. ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล คือการมี ส.ว. ที่หลับหูหลับตาให้ท้ายและรับรองทุกการกระทำของรัฐบาล"