รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ว่า ครม.รับทราบผลการดำเนินโครงการภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism : JCM) ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีที่ประเทศญี่ปุ่นได้ริเริ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศที่มีความร่วมมือสามารถใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น
โครงการต้นแบบ JCM ที่ไทยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่นมีจำนวน 49 โครงการในไทย คิดเป็นมูลค่า 3,018 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทการผลิตพลังงานหมุนเวียน จำนวน 26 โครงการ รองลงมาเป็นโครงการประเภทการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 21 โครงการ และการผลิตพลังงานหมุนเวียนร่วมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 2 โครงการ คาดว่า จะก่อให้เกิดการลงทุนร่วมภายใต้กลไกเครดิตร่วม JCM มากกว่า 9,806 ล้านบาท มีหน่วยงานผู้รับทุนเป็นบริษัทเอกชนไทย จำนวน 45 แห่ง นอกจากนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้เท่ากับ 262,357 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
สำหรับโครงการต้นแบบ JCM ของไทยที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการร่วม JCM แล้ว มีจำนวน 11 โครงการ ซึ่งถือเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกเครดิตร่วม JCM มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้เท่ากับ 58,096 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมีโครงการที่ได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตแล้ว จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณคาร์บอนเครดิตเท่ากับ 4,032 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยแบ่งปันคาร์บอนเครดิตเป็นของฝ่ายไทย 2,015 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ฝ่ายญี่ปุ่น 2,017 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
รัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการต้นแบบ JCM ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ JCM ก็ต่อเมื่อ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากคณะรรมการร่วม JCM ซึ่งเอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จะรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าโครงการจะลดได้ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ส่วนปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่โครงการสามารถลดได้จริงจากการดำเนินงานเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” โดยคณะกรรมการร่วม JCM เป็นผู้ให้การรับรองคาร์บอนเครดิต และสัดส่วนคาร์บอนเครดิตที่จะแบ่งปันกันระหว่างฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทย จะเป็นไปตามสัดส่วนของเงินสนับสนุนต่อเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ