วันที่ 16 พ.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทย ได้ส่งตัวแทนนักกีฬาทีมชาติเพื่อร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ที่ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 12-23 พ.ค. 2565 นับเป็นก้าวสำคัญ ในการเข้าร่วมโปรแกรมการแข่งขันที่สามารถพิสูจน์ความสำเร็จของนักกีฬาไทยในหลายประเภท สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของนักกีฬาและสมาคมกีฬา ที่มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาทุกประเภท ที่ภาครัฐให้ความสนใจและส่งเสริมทั้งในด้านงบประมาณ และการฝึกซ้อม เพื่อส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันสำหรับโปรแกรมการแข่งขันกีฬาที่เกิดขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
"การแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 31 ผมขอให้กำลังใจนักกีฬาทุกสมาคม ที่เข้าร่วมแข่งขัน โดยได้นำความปรารถนาดี กำลังใจจากนายกรัฐมนตรี และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ฝากมาให้แก่นักกีฬาทีมชาติไทยทุกคน และทุกประเภทกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน ขอให้นักกีฬาทุกคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจแข่งขันอย่างเต็มที่ และต่อสู้อย่างสุดความสามารถ คณะกรรมการฯ การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท. ) และสมาคมกีฬาทุกประเภท พร้อมที่จะส่งเสริมศักยภาพของนักกีฬาของไทยทุกคน โดยการนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การกีฬามาเพิ่มสมรรถนะ และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันกีฬาในทุกเภท ให้ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด เพื่อศักดิ์ศรีของคนไทย และประเทศชาติ ”
สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านกีฬาของไทย ได้วางแผนการขับเคลื่อนการสนับสนุนและส่งเสริมทั้งในระดับประเทศ และสากล โดยการพัฒนาศักยภาพทางด้านการกีฬาในทุกระดับอายุ ให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ พร้อมผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในการดำเนินกิจกรรมกีฬาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำทางการกีฬาระดับเอเชีย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานนักกีฬาของไทยไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ
อย่างไรก็ตามในพัฒนาศักยภาพและการเข้าร่วมการแข่งขัน สมาคมกีฬาฯทุกประเภท ต้องปฎิบัติตามมาตรฐานด้านการแข่งขันกีฬา ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ข้อบังคับจากองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA)ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักกีฬาไทยและประเทศ ซึ่งระยะต่อไปจะมีการผลักดันศูนย์ฝึกกีฬาในแต่ละประเภท เพื่อการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทย โดยมีการนำเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การกีฬาดูแลทัพนักกีฬาไทย เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะนักกีฬาให้มีความแข็งแกร่ง และเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยจัดการแข่งขันกีฬาระดับสากลในประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ในปี 2565 กกท. และสมาคมฯ ได้วางแผนการบูรณาการใช้กลไกการแข่งขันกีฬา เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพการกีฬา แผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ พร้อมขยายผลขับเคลื่อน BCG Model มาใช้ในการแข่งขันทุกประเภทการแข่งขันกีฬา เพื่อขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ สามารถร่วมติดตามผลการแข่งขันกีฬา 40 รายการในซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ปะกอบด้วย กีฬาทางน้ำ (ว่ายน้ำ,กระโดดน้ำ,ฟินสวิมมิ่ง), ยิงธนู, กรีฑา, แบดมินตัน, บาสเกตบอล, บิลเลียด, เพาะกาย, โบว์ลิ่ง, มวยสากล, เรือแคนู, หมากรุกสากล, จักรยาน, แดนซ์สปอร์ต, อีสปอร์ต, ฟันดาบ, ฟุตบอล, กอล์ฟ, ยิมนาสติก, แฮนด์บอล, ยูโด, ยูยิตสู, คาราเต้, คิกบ็อกซิ่ง, คูราช, มวยไทย, ปันจักสีลัต, เปตอง, เรือพาย, ตะกร้อ, ยิงปืน, เทเบิลเทนนิส, เทควันโด, เทนนิส, ไตรกีฬา, วอลเลย์บอล, โววีนั่ม, ยกน้ำหนัก, มวยปล้ำ, วูซู, หมากรุกเซี่ยงฉี ชิงชัย 526 เหรียญทอง