อย่างไรก็ดี ปูตินเรียกกองทหารรับจ้างวากเนอร์ ซึ่งเป็นกองกำลังหลักของการสู้รบในสงครามยูเครนว่าเป็น "ผู้รักชาติ" ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมกองทัพรัสเซีย เดินทางไปเบลารุส หรือกลับบ้านได้ อย่างไรก็ดี ปูตินไม่ได้เอ่ยชื่อของ เยฟเกนี ปริโกชิน หัวหน้ากองกำลังวากเนอร์โดยตรง โดยก่อนหน้านี้ ปริโกชินปฏิเสธว่าเขาไม่ได้พยายามโค่นล้มระบอบการปกครองของปูติน
เหตุกบฏโดยกองกำลังวากเนอร์ เกิดขึ้นหลังจากการที่ทางการรัสเซีย ได้ประกาศให้กองกำลังวากเนอร์ถูกควบเข้ามาอยู่ใต้สายการบังคับบัญชาการของกองทัพรัสเซีย ส่งผลให้ปริโกชินเกิดความไม่พอใจ ประกอบกับความขัดแย้งเดิมที่ปริโกชินมีต่อ เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย และ วาเลรี เกราซิมอฟ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดรัสเซีย ที่ปริโกชินกล่าวหาว่าไร้ฝีมือระหว่างการทำสงครามในยูเครน
หลังจากความไม่พอใจดังกล่าว ปริโกชินได้ตัดสินใจยกกองกำลังวากเนอร์ข้ามชายแดนยูเครนกลับมายังฝั่งรัสเซีย ก่อนเข้ายึดเมืองทางตอนใต้ของรัสเซีย และมุ่งหน้าเดินทัพเข้าสู่กรุงมอสโก เพื่อโค่นล้มชอยกูและเกราซิมอฟลงจากตำแหน่ง แม้ปริโกชินจะอ้างว่า เขาเป็น “ผู้รักชาติ” และไม่มีเจตนาล้มล้างอำนาจการปกครองของปูตินก็ตาม
หลังจากเหตุการณ์การก่อกบฏสงบลง โดยมี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส พันธมิตรคนสำคัญของปูตินเป็นตัวกลาง โดยมีรายงานว่าปริโกชินได้ลี้ภัยไปยังเบลารุส ในขณะที่ทางการรัสเซียจะไม่ดำเนินคดีกับกองกำลังวากเนอร์ ทั้งนี้ ปริโกชินได้ออกมาแถลงว่า วากเนอร์ได้ยกทัพเข้ารัสเซียโดยยึดถือประโยชน์ของรัสเซียเท่านั้น อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าข้อตกลงไกลเกลี่ยมีการระบุว่าปริโกชินจะไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ แม้ว่าสื่อของรัฐบาลรัสเซียจะรายงานว่า การสืบสวนสอบสวนต่อกรณีการก่อกบฏยังคงดำเนินต่อไป
หลังจากเหตุการณ์สงบลง ปูตินได้ออกมาแถลงหลังจากเก็บตัวเงียบว่า ผู้ก่อการยกทัพเข้ากรุงมอสโกจะถูก "นำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" และปูตินพยายามระบุว่า ปริโกชินซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าของเขากำลังแทงรัสเซียเข้าที่ข้างหลัง โดยการออกมากล่าวต่อสาธารณชนในครั้งนี้ของปูติน เป็นความพยายามที่จะยืนยันการมีอยู่ของอำนาจของปูตินอีกครั้ง พร้อมกันกับความพยายามในการบดบังความอ่อนแอของเขา ในการจัดการกับกบฏของวากเนอร์ โดยในการแถลง ปูตินมีน้ำเสียงของความโกรธจัด พร้อมกันกับการขมิบริมฝีปากของเขาอยู่ตลอดเวลา
ปูตินระบุว่า ผู้ที่ก่อการกระด้างกระเดื่องได้ทรยศต่อประเทศและประชาชนของพวกเขา และกำลังทำงานให้กับศัตรูทั้งหมดของรัสเซีย ด้วยความพยายามในการลากประเทศเข้าไปสู่การนองเลือดและความแตกแยก ยิ่งไปกว่านั้น ปูตินได้กล่าวหาว่าชาติตะวันตกต้องการให้ชาวรัสเซีย "ฆ่ากันเอง" แม้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (26 มิ.ย.) ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏของวากเนอร์ที่จบลงไปแล้ว ทั้งนี้ ปูตินแย้งว่าการจัดการวิกฤตของเขาเอง เป็นตัวแปรที่ช่วยให้รัสเซียหลีกเลี่ยงหายนะได้ แม้ภาพที่มีออกมาจะบ่งชี้ว่า ภาพความมั่นคงและอำนาจของปูตินเองถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงจากเหตุกบฏในครั้งนี้
นอกจากนี้ ปูตินยังกล่าวด้วยว่าเขาจะรักษาสัญญาที่จะอนุญาตให้กองทหารวากเนอร์ ซึ่งไม่ได้ "หันไปต้านผู้มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน" ที่จะเดินทางออกไปยังเบลารุสได้ “ผมขอขอบคุณเหล่าทหารและผู้บัญชาการของกลุ่มวากเนอร์ที่ตัดสินใจได้ถูกต้อง พวกเขาไม่ได้หันไปสู่การนองเลือดระหว่างพี่น้องกันเอง พวกเขาหยุดมันลงในท้ายที่สุด” ปูตินกล่าว "วันนี้คุณมีโอกาสที่จะรับใช้ในรัสเซียต่อไป โดยเซ็นสัญญากับ (กระทรวงกลาโหม) หรือโครงสร้างทางทหารและการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ หรือกลับไปหาครอบครัวและคนใกล้ชิดของคุณ… ผู้ที่ต้องการออกไปยังเบลารุสนั้น ผมให้คำสัญญาว่าคุณจะทำมันได้"
ปูตินกล่าวว่า "มีการดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดจำนวนมาก" ในช่วงเริ่มต้นของการกบฏ และผู้ก่อการ "ตระหนักดีว่าการกระทำของพวกเขาเป็นอาชญากร" ประธานาธิบดีรัสเซียยังกล่าวยกย่องความสามัคคีของสังคมรัสเซีย และขอบคุณลูคาเชนโก ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นนายหน้าในข้อตกลงเพื่อยุติการกบฏ และการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติ
ปริโกชินอ้างว่าข้อกล่าวหาการเป็นกบฏนั้น แท้ที่จริงเป็น "การยกทัพเพื่อความยุติธรรม" ของเขา ซึ่งเผยให้เห็นถึง "ปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคงทั่วประเทศ" นอกจากนี้ ปริโกชินยังกล่าวถึงบทบาทของลูคาเชนโก ในการเป็นนายหน้าเพื่อการพูดคุยยุติการก่อการกบฏ โดยปริโชชินกล่าวว่า ลูคาเชนโกเป็นผู้เสนอแนวทางให้วากเนอร์ดำเนินการต่อไปใน "เขตอำนาจทางกฎหมาย"
ปริโกชินยอมรับว่าการเดินทัพของเขาส่งผลให้กองทหารรัสเซียบางส่วนเสียชีวิต เมื่อกองทหารวากเนอร์ยิงเฮลิคอปเตอร์โจมตีตก แต่ปริโกชินกล่าวเสริมว่า "ไม่มีทหารสักคนเดียวเสียชีวิตบนพื้นดิน" พร้อมกันนี้ ปริโกชินยังกล่าวอีกว่า “เราเสียใจที่ต้องโจมตีเครื่องบิน แต่พวกเขาโจมตีเราด้วยระเบิดและขีปนาวุธ”
ที่มา: