กระทรวงสาธารณสุขของแคนาดาเปิดเผยรายงานล่าสุดว่า มีคนเลือกฆ่าตัวตายโดยได้รับความช่วยเหลือของแพทย์ หรือ 'แพทยานุเคราะหฆาต' ไปแล้วทั้งหมด 6,749 ราย คิดเป็นประมาณร้อยละ 1 ของการเสียชีวิตทั้งหมดในแคนาดา
กระทรวงสาธารณสุขแคนาดากล่าวว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ที่ได้รับความช่วยเหลือโดยพยาบาลเวชปฏิบัติ และมีเพียง 6 รายเท่านั้นที่เลือกจะฉีดยาที่แพทย์จัดให้เพื่อจบชีวิตเอง และแพทยานุเคราะหฆาตมักเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านของผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่มักยื่นเรื่องขอให้แพทย์ช่วยฆ่าตัวตายมักเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่รายงานฉบับนี้ไม่ได้ระบุสถิติว่ามีชาวแคนาดากี่คนทั่วประเทศที่ถูกปฏิเสธการทำแพทยานุเคราะหฆาต เพราะสามารถเก็บข้อมูลได้ไม่ครบทุกรัฐ แต่มีการอ้างอิงว่า เหตุผลส่วนใหญ่ที่แพทย์ปฏิเสธคำร้องคือ “สูญเสียความสามารถ” และ “ยังไม่เห็นว่าผู้ป่วยกำลังจะตาย” ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
กฎหมายระบุไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับการทำแพทยานุเคราะหฆาตจะต้องผ่านการทดสอบความสามารถด้านจิตใจในขณะที่ยื่นคำร้องหนึ่งครั้ง และต้องผ่านการทดสอบอีกครั้งก่อนดำเนินการ ซึ่งทำให้รัฐบาลถูกกดดันว่าควรยกเลิกการทดสอบครั้งที่ 2 เพราะทำให้หลายคนที่ได้รับอนุญาตการทำแพทยานุเคราะหฆาตแล้ว ถูกปฏิเสธบริการนี้ในนาทีสุดท้าย เพราะพวกเขาสูญเสียความสามารถในการยินยอมให้แพทย์ช่วยทำให้ตาย เนื่องจากอาการป่วยย่ำแย่ลง
ในปี 1972 แคนาดาแก้ไขกฎหมายให้การฆ่าตัวตายไม่ใช่ความผิดอาญา ต่อมาในวันที่ 5 มิ.ย. 2014 รัฐควิเบกได้ออกกฎหมายอนุญาตแพทยานุเคราะหฆาต ทำให้การถกเถียงกันเรื่องนี้ขยายออกไปทั่วประเทศ มีการต่อสู้กันในชั้นศาล และวันที่ 6 ก.พ. 2015 ศาลสูงสุดมีมติเอกฉันท์อนุญาตการเสียชีวิตโดยได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ โดยให้เวลารัฐสภาแคนาดาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จนเดือนมิ.ย. 2016 รัฐสภาแคนาดาผ่านกฎหมายนี้ออกมาใช้ เพื่ออนุญาตผู้ใหญ่ชาวแคนาดาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนยื่นขอให้แพทย์ให้ความช่วยเหลือในการจบชีวิตตัวเองได้
การุณยฆาต VS. แพทยานุเคราะหฆาต
การุณยฆาต (Euthanasia หรือ Mercy Killing) คือ การทำให้บุคคลเสียชีวิตโดยเจตนา หรือเร่งการเสียชีวิตโดยวิธีการที่ไม่รุนแรงตามคำร้องขอของบุคคลนั้น ซึ่งอาจเป็นการช่วยให้บุคคลนั้นหลุดพ้นจากความทรมานจากการเจ็บป่วย ความพิการหรือเหตุผลอื่นๆ
ส่วนแพทยานุเคราะหฆาต (Physician Assisted Suicide :PAS) คือ การฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ โดยแพทย์จะเพียงแต่ให้คําแนะนําในการฆ่าตัวตาย จ่ายยาหรือจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือสําหรับการฆ่าตัวตายเท่านั้น แต่บุคคลนั้นจะเป็นผู้กระทําการฆ่าด้วยตนเอง ซึ่งแพทย์จำนวนหนึ่งสนับสนุนวิธีนี้มากกว่าการุณยฆาต เพราะมองว่าการลงมือฉีดยาให้ผู้ป่วยตายด้วยตัวแพทย์เอง จะสร้างความกระทบกระเทือนทางจิตใจให้กับแพทย์
หลายประเทศที่อนุญาตให้การุณยฆาตและแพทยานุเคราะหฆาตถูกกฎหมาย มักให้เหตุผลว่า พลเมืองมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง นอกจากนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยเช่นกัน
กฎหมายที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
ศัพท์ที่เรียกการช่วยให้บุคคลเสียชีวิตตามคำร้องก็แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เพราะ “การฆ่าตัวตายแบบได้รับความช่วยเหลือ” หรือ “แพทยานุเคราะหฆาต” ในความหมายแคบคือผู้ป่วยจะดำเนินการฉีดยาฆ่าตัวตายด้วยตัวเอง แต่กฎหมายแคนาดาตีความหมายครอบคลุมไปถึงการใช้แพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติช่วยฉีดยาให้กับผู้ป่วยที่ต้องการจะตาย แต่ไม่สามารถฉีดยาด้วยตัวเองได้้
กฎหมายของแต่ละประเทศก็ยังคงแตกต่างกันออกไป หรือแม้แต่ในแคนาดาเองก็ยังมีข้อบังคับที่แตกต่างกันในแต่ละรัฐ แต่ส่วนใหญ่กฎหมายจะกำหนดให้ต้องมีแพทย์อย่างน้อย 2 คนที่ร่วมกันพิจารณาผลการวินิจฉัยอาการผู้ป่วยว่าเป็นผู้ป่วยใกล้ตายหรือไม่ และให้แพทย์เป็นผู้ดำเนินการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยจบชีวิต แต่แคนาดาอนุโลมให้ทั้งแพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติ เพื่อเอื้อให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีแพทย์ไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายแคนาดาในเรื่องนี้ค่อนข้างเข้มงวดกว่าเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ เพราะไม่อนุญาตให้เด็กและวัยรุ่นยื่นคำร้องของทำแพทยานุเคราะหฆาต อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ขอให้แพทย์ช่วยให้ตายเพราะพิการมาอย่างยาวนานหรือป่วยทางจิต นอกจากนี้ แคนาดายังไม่รับรองหนังสือสั่งเสียที่จะยินยอมให้ทำแพทยานุเคราะหฆาตในกรณีที่ตัวเองป่วยมากจนไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว
ที่มา : Global News, Goverment of Canada, BBC, มหาวิทยาลัยบูรพา