ในงานครบรอบ 89 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม (24 มิถุนายน 2475) 'อนุสรณ์ ธรรมใจ' รองประธานกรรมการ คณะกรรมการ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวปาฐกถานำ โดยชูความเป็นไปได้ของการสร้างระบบสวัสดิการในไทยโดยยึดหลักภราดรภาพ (Solidarity) ของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นสำคัญ
"อนุรักษนิยมฝ่ายขวา มองว่าระบบสวัสดิการหากไม่เป็นการสร้างภาระทางการคลัง ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำ ส่วนเสรีนิยมสุดโต่งหรือมาร์กซิสต์ก็โจมตีว่า เป็นการถ่วงเวลาในการปฏิวัติสังคมของชนชั้นกรรมมาชีพ"
แม้จะถูกโจมตีจากหลายฝ่าย แต่อนุสรณ์ชี้ว่าระบบสวัสดิการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยหนทางสำคัญนั้นคือการตั้งอยู่บนความเป็น 'ภารดรภาคนิยม'
ความหมายโดยง่ายของ 'ภารดรภาพ' คือแนวทางที่มองว่ามนุษยชาติ "รวมกันเข้าเป็นร่างอันหนึ่งอันเดียวกัน" หรือมองให้ง่ายเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ในวิกฤตโควิด-19 นี้ ประเทศหนึ่งประเทศใดไม่อาจเอาตัวรอดด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งหมด
ในบทความ 'ภารดรภาพนิยม (solidarisme) ในพุทธธรรม' ระบุว่า "ความคิดภราดรภาพนิยมถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบโต้ความคิดทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีมาแต่เดิมซึ่งได้แก่ ระบบเสรีนิยมที่ถือเอาแต่ประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นสรณะ กับสังคมนิยมที่ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมจนสุดโต่ง"
สำหรับภราดรภาพนิยม ถือเอาความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการหวนกลับไปสู่ความคิดแบบมนุษยนิยม (Humanisme) ในยุคแห่งภูมิธรรมของตะวันตก เมื่อเชื่อมโยงกลับมายังศาสนาพุทธ อาจเทียบได้กับแนวคิดเรื่องของ "การเกิดมาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ในสังสารวัฏนี้ร่วมกัน"
จากหลักคิดในเชิงทฤษฎีดังกล่าว อนุสรณ์ เสริมต่อไปว่า ระบบสวัสดิการของไทยก็เป็นเช่นเดียวกัน คือต้องได้รับความร่วมมือในการผลักดันร่วมกันจากทุกฝ่าย เพราะ "การกระทำของแต่ละบุคคลมีผลกระทบซึ่งกันละกัน มีหนี้สินต่อกันและกัน เป็นเจ้าหนี้ซึ่งกันและกัน"
"เราคาดหวังกับจิตสำนึก พลังที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่ก็ต้องอาศัยกฎหมายด้วย ฉะนั้น เมื่อเกิดสภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำมาก การผลักดันในเชิงกฎหมาย ภาษีทรัพย์สิน สวัสดิการต้องเกิดขึ้น ถ้าเราดูแนวความคิดของภารดรภาพนิยม มันจะเป็นทางออก"
เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรัฐสวัสดิการอย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวียหรือเยอรมนีจะพบว่าปัจจัยที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่าไทยยังไม่มีความพร้อมและต้องการการปฏิรูประบบอย่างมากคือ 'รายได้ภาษี' (Tax-to-GDP ratio) ซึ่งไทยอยู่ในระดับ 15%-16% ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ประเทศเหล่านั้นอยู่ในระดับมากกว่า 30% ขึ้นไปทั้งสิ้น
"ภาษีเทียบจีดีพีเป็นตัวบอกว่า ระบบสวัสดิการจะยั่งยืนไหม ฐานะการเงินการคลังเพียงพอหรือไม่"
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือระดับรายจ่ายด้านสวัสดิการของประชาชนของรัฐบาลซึ่งประเทศที่ดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการนั้นจะมีรายจ่ายราว 25% ของจีดีพี ขณะที่ตัวเลขของไทยตลอดช่วงที่ผ่านมาอยู่แค่เพียง 10% เท่านั้น จึงตอบได้อย่างชัดเจนจากทั้งสองปัจจัยว่า 'ไทยยังไม่พร้อม' ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่พร้อมแล้วไม่ต้องทำ แต่ยิ่งไม่พร้อมยิ่งต้องเร่งแก้ไข
อนุสรณ์ ปิดท้ายด้วยการฝาก 5 ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเข้าแก้ไขประกอบไปด้วย