ไม่พบผลการค้นหา
​กรมชลประทาน แจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น หลังมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น ส่วนบางจังหวัดในภาคอีสานน้ำล้นตลิ่ง และต้องเฝ้าระวังเนื่องจากอ่างเก็บน้ำมีน้ำเกินความจุแล้ว

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,135 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่ง 5.71 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 726 ลบ.ม./วินาที

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,300 – 1,400 ลบ.ม./วินาที เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์น้อยที่สุด ได้เพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวม 557 ลบ.ม./วินาที พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 700 – 900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อน ตั้งแต่บริเวณตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.5 – 1.00 เมตร ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาในครั้งนี้ว่า ฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์มากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้ผันน้ำบางส่วนเข้าทุ่งบางระกำ และจุดเก็บน้ำอื่นๆ แล้วก็ตาม อีกทั้ง 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน, และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ได้ลดการระบายน้ำลง เพราะต้องการเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง แต่ฝนตกชุกในแถบลุ่มน้ำปิง ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร และพิจิตร ซึ่งอยู่ด้านท้ายเขื่อน มีน้ำ Side Flow (น้ำนอกเหนือการควบคุม) ค่อนข้างมาก และน้ำทั้งหมดจะไหลมารวมที่แม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดนครสวรรค์ จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ในส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า น้ำที่ว่านี้จะระบายเข้าทุ่งลุ่มต่ำภาคกลางได้หรือไม่ นั้น ขอชี้แจงว่ายังไม่สามารถระบายน้ำเข้าทุ่งได้ เพราะยังมีการปลูกข้าวเกือบเต็มพื้นที่ และบางพื้นที่เพิ่งจะเริ่มเพาะปลูก เนื่องจากปีนี้ทำนาล่าช้ากว่ากำหนดจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น

​กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หากมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มเติม ที่อาจจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป จึงขอให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชนได้ตลอดเวลา


น้ำล้นตลิ่งที่โคราชเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเสียหาย 20 หลังคาเรือน

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.หมื่นไวย อ.เมือง จ.นครราชสีมา อรุณ ขันโคกสูง ผู้ใหญ่บ้านโพนสูง หมู่ที่ 4 ต.หมื่นไวย กล่าวว่า วันนี้น้ำในลำบริบูรณ์ได้เพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันหลายวัน จนล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในหมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนไปแล้ว กว่า 20 หลังคาเรือน ซึ่งกระสอบทรายที่ทำเป็นคันกั้นน้ำเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้วเริ่มเอาไม่อยู่ จึงทำกระสอบทรายเพิ่มอีกจำนวนมาก เพื่อนำไปเสริมเป็นคันกั้นน้ำริมตลิ่งลำบริบูรณ์ ระยะทางยาวกว่า 200 เมตร เพราะหากไม่กั้นไว้น้ำที่ล้นตลิ่งจะไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในหมู่บ้านโพนสูงกว่า 160 หลังคาเรือนแน่นอน และตอนนี้ก็ได้จัดชาวบ้านเป็นเวรยามเฝ้าระวังริมตลิ่งตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากยังคงมีฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งชาวบ้านกลัวว่าหากมีพายุฝนลงมาอีกระลอกใหญ่ กระสอบทรายคันกั้นน้ำคงเอาไม่อยู่แน่

น้ำท่วมหมื่นไวย_๒๐๑๐๐๗_28.jpg


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับมวลน้ำจำนวนมากนี้ เกิดจากน้ำฝนที่สะสมมาจากพื้นที่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และ อ.ขามทะเลสอ ซึ่งไหลลงสู่ลำตะคองปริมาณมาก จนทางชลประทานจังหวัดนครราชสีมา ต้องผันน้ำส่วนหนึ่งออกไปสู่ลำเชียงไกร และลำบริบูรณ์แห่งนี้ เพื่อไม่ให้มวลน้ำไหลเข้าสู่ตัวเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นเขตชุมชนหนาแน่นและเป็นเขตเศรษฐกิจของเมืองโคราช จึงส่งผลให้เกิดน้ำไหลเอ่อล้นลำบริบูรณ์ ซึ่งล่าสุดขณะนี้ได้รับรายงานว่าน้ำจากลำบริบูรณ์ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ต.หมื่นไวย แล้ว 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหมื่นไวย หมู่ 2, บ้านโพนสูง หมู่ 4, บ้านคลองบริบูรณ์ หมู่ 5 และบ้านหนองนาลุ่ม หมู่ 7 โดยมีบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 150 หลังคาเรือน ซึ่งขณะนี้ทาง อบต.หมื่นไวย ได้พยายามนำรถแบคโฮไปขุดเป็นร่องระบายน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ชุมชนที่มีน้ำท่วมสูง เนื่องจากยังพบว่ามีปริมาณน้ำจำนวนมาก ที่กำลังไหลมาจากฝั่ง ต.หนองกระทุ่ม อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งอาจจะทำให้ลำบริบูรณ์มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก


ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ สั่งทุกอำเภอเฝ้าระวังพร้อมให้ความช่วยเหลือ 24 ชม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ได้มีพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษทุกอำเภอตลอดทั้งกลางวันกลางคืนติดต่อกัน 2 วันแล้ว ส่งผลทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังระบายไม่ทันหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.ขุนหาญ มีน้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรักได้ไหลเอ่อมาท่วมขังบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ ครูและนักเรียนได้ช่วยกันนำกระสอบทรายมาปิดกั้นบริเวณหน้าประตูรั้วโรงเรียนเพื่อไม่ให้น้ำไหลผ่านเข้าท่วมอาคารเรียน ส่วนที่อ่างเก็บน้ำหนองสิ อ.ขุนหาญ ขณะนี้น้ำได้เอ่อล้นสปิลเวย์แล้ว

บุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่ง ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ มีปริมาณน้ำเก็บกักเกินกว่าความจุ 100% แล้วจำนวน 5 แห่ง คือ อ่างห้วยน้ำคำ อ.เมืองศรีสะเกษ 102.02%, อ่างห้วยตาจู อ.ขุนหาญ 102.03%, อ่างหนองสิ อ.ขุนหาญ 112.40%, อ่างห้วยทา อ.ขุนหาญ 102.04%, และอ่างห้วยด่านไอ อ.กันทรลักษ์ 106.22% 

นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักเกินกว่า 80 เปอร์เซ็น จำนวน 3 แห่ง คือ อ่างห้วยตึ๊กชู อ.ภูสิงห์ 83.97%, อ่างห้วยตะแบง อ.ขุนหาญ 92.77%, และอ่างห้วยตามาย อ.กันทรลักษ์ 92.80% ส่วนที่ลำน้ำมูล บริเวณเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 85.62% ของความจุทั้งหมด และเขื่อนหัวนา อ.กันทรารมย์ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 99.56% ของความจุทั้งหมด

10-9-2020 9-05-06 AM.jpg


บุญประสงศ์ เปิดเผยต่อไปว่า การที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องนี้อาจจะส่งทำให้น้ำในลำห้วยสาขาต่างๆ มีปริมาณน้ำสูงขึ้น และอาจไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มได้ในหลายอำเภอที่มวลน้ำไหลผ่านเช่น อ.ขุนหาญ, อ.ไพรบึง, อ.พยุห์, อ.น้ำเกลี้ยง, และอ.กันทรารมย์ ก่อนไหลลงแม่น้ำมูล ส่วนอีกจุดหนึ่ง คือ อ.กันทรลักษ์ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยด่านไอ ก็เกินความจุอ่างแล้ว คาดว่าจะกระทบในพื้นที่ของ อ.กันทรลักษ์, อ.เบญจลักษ์, อ.โนนคูณ เส้นทางน้ำไหลผ่าน อีกจุดหนึ่ง คือ ในเขต อ.เมืองศรีสะเกษ ห่วงเรื่องน้ำท่วมขังในเขตชุมชน ซึ่งทาง ปภ.ศรีสะเกษได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ตามจุดเสี่ยงต่างๆที่อาจมีน้ำท่วมขังไว้แล้วทุกจุดเรียบร้อยแล้ว

ด้านวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้แจ้งเตือนไปยังอำเภอทั้ง 22 อำเภอ ให้ติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และให้แจ้งผู้บริหารท้องที่/ท้องถิ่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้เตรียมการแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงราบลุ่ม หรือพื้นที่เชิงเขา รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชม. หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ให้ นายอำเภอ ในฐานะผู้อำนวยการอำเภอ ร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่นให้เข้าไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุด แล้วรายงานขอรับการสนับสนุนมาที่จังหวัด