ไม่พบผลการค้นหา
'สส.เพื่อไทย' รับหนังสือ 'สมาคมผู้ประกอบธุรกิจนกแอ่น' หวังเร่งรัดแก้กฎหมายรับรองอาชีพให้ถูกต้อง เพิ่มโอกาสส่งออก-แข่งขันต่างประเทศ

วันที่ 13 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ตัวแทน สส.พรรคเพื่อไทย นำโดย สกุณา สาระนันท์ สส.สกลนคร และ รัฐ คลังแสง สส.มหาสารคาม รับหนังสือจากสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจนกแอ่น ประเทศไทย เพื่อขอให้เร่งรัดกฎหมายมารองรับการทำธุรกิจ

ชาญวิทย์ ทิพย์มณี ประธานสมาคมฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการประกอบธุรกิจรังนกแอ่นของประเทศไทย ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก เนื่องจากไม่มีกฎระเบียบหรือกฎหมายต่างๆ มารองรับ ทำให้สูญเสียโอกาสในการส่งออกรวมทั้งส่งผลเสียต่อระบบธุรกิจเป็นอย่างมาก สมาคมจึงขอความอนุเคราะห์จาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ช่วยเร่งรัดและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยเร่งด่วน ในเรื่องการออกประกาศกฎกระทรวง ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 เร่งรัดทบทวนดำเนินการ และการพิจารณาแนวทางในการดำเนินการประกอบกิจการบ้านนกแอ่นกินรัง เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันการจัดทำร่างระเบียบ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ครอบครองได้ 

รวมถึงออกระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการประกอบการบ้านนกแอ่นกินรัง ทั้งนี้เพื่อผลักดันธุรกิจรังนกของประเทศไทย สามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ การประกอบกิจการบ้านนกแอ่นกินรัง หรือคอนโดนกแอ่นกินรังนั้นเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งประเทศไทย และสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยผลผลิตและมูลค่าตลาดส่งออกกรังนกอยู่ที่อันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศมาเลเซีย อันดับ 1 เป็นของประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับไม่มีมาตรการทางกฎหมาย แนวทางหรือหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาเพื่อบังคับใช้โดยเฉพาะในการควบคุมการประกอบการบ้านนกแอ่นกินรัง หรือคอนโดนกแอ่นกินรัง ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนมายาวนาน 

ปัญหาอุปสรรคดังกล่าวนอกจากจะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี ๒๕๖๒ ยังมี 2 หน่วยงานเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.อีก 2 ฉบับ คือกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอนามัยซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมการประกอบกิจการบ้านรังนกแอ่นกินรัง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี ๒๕๒๒ กรมโยธาธิการฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บหรือมีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 3-4 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ 

ด้าน สกุณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดส่งออกหลักของรังนกแอ่นคือจีน โดยที่ผ่านมาประเทศจีนไม่ได้มีข้อกำหนดทางกฎหมาย แต่ในระยะหลัง รังนกแอ่นมีสารปนเปื้อน ทางจีนจึงตั้งข้อกำหนดให้แจ้งที่มาที่ไป การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับจึงกลายเป็นข้อจำกัดให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถแข่งขันสู้กับเพื่อนบ้านได้ ซึ่งเวลานี้ยังเหลือกฎหมายลูกที่ต้องแก้ไข ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องดังกล่าว พร้อมเสนอญัตติสู่สภาฯ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ขณะที่ รัฐ กล่าวว่า การทำธุรกิจรังนกแอ่นเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากพอสมควร ซึ่งเชื่อว่าหากงานทำรังนกอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยสมบูรณ์แล้ว จะเป็นการยกระดับ GDP ได้อย่างชัดเจน และยังเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร ทั้งภาคอีสาน และภาคเหนือ แล้วเมื่อสามารถส่งออกได้ ราคาก็จะดีขึ้น