นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความล้มเหลวของมาตรการทางการคลังของรัฐบาล คสช. ที่ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลปัจจุบันว่า ต้องอย่ามองว่ารัฐบาลนี้ทำงานมาแค่ 6 เดือน แต่อยากให้มองความเชื่อมโยงจากรัฐบาล คสช. มาถึงรัฐบาลปัจจุบัน และแนวทางการบริหารประเทศที่ผิดพลาดเรื้อรังและต่อเนื่องตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา
พร้อมฉายภาพว่า ทำไมเศรษฐกิจไทยของเราจึงเสื่อมถอย เมื่อมองไปที่ความผิดพลาดเรื้อรังของมาตรการทางการคลังของรัฐบาล คสช. เชื่อมต่อมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน โครงหลักของมาตรการการคลังที่ผ่านมา สามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วงใหญ่ๆ แห่งความผิดพลาด
ระยะที่ 1 พ.ศ. 2557-2558 ช่วงทำลายเศรษฐกิจฐานราก ช่วงแรกหลังการรัฐประหาร ยกเลิกมาตรการสนับสนุนสินค้าราคาเกษตรเกือบทั้งหมด ติดกับดักคำว่า "ประชานิยม" โดยไม่เข้าใจว่าแก่นแท้ของว่าการสนับสนุนสินค้าการเกษตรเป็นสิ่งที่จำเป็นและช่วยประคองในช่วงที่การปรับโครงสร้างการผลิตยังไม่บรรลุผล ต้องทำควบคู่กันไป การยกเลิกมาตรการเหล่านั้นแบบกระทันหัน สะเทือนและทำลายเศรษฐกิจฐานรากแบบไม่ทันตั้งตัว และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหากำลังซื้อที่ล้มแล้วยังไม่ฟื้นจนถึงทุกวันนี้
ระยะที่ 2 พ.ศ. 2559-2560 ช่วง คสช. เถลิงอำนาจ มาตรการทางการคลังในช่วงนั้นถูกสังคมตั้งข้อสังเกตอย่างหนักถึงการเอื้อกลุ่มทุนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการ EEC โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่สังคมตั้งคำถามว่าเป็นการยืมมือคนจนเป็นทางผ่านของเงินไปสู่คนรวยหรือไม่ เงินไม่ได้ถูกหมุนเวียนอยู่ในฐานรากแบบที่ควรจะเป็น ไม่สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังหมายรวมถึงโครงการ Mega Project ต่างๆ โดยละเลยการก่อสร้างขนาดเล็กแต่กระจายตัวที่สามารถสร้างงาน และการหมุนเวียนของห่วงโซอุปทานได้มากกว่า
ระยะที่ 3 พ.ศ. 2561-2562 ช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง เป็นช่วงสารพัดแจกมั่วซั่ว การเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในระยะหลัง โครงการชิมช้อปใช้ เฟสต่างๆ โครงการแจกเงินเที่ยว โครงการบ้านดีมีดาวน์ เหล่านี้เป็นการใช้งบประมาณแบบใช้ครั้งเดียวแล้วหมดไป ไม่มีผลเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ และยังเป็นการใช้ระบบคัดกรองอย่างเจาะจง (Targeting) ที่คุณภาพต่ำ กลายเป็นการแจกหว่านงบประมาณไปทั่ว ไร้ทิศทาง ซึ่งการแจกเงินแบบหว่านแบบนี้เป็นการใช้เงินที่มีตัวคูณทางเศรษฐกิจต่ำ มีผลต่อเศรษฐกิจต่ำ ไม่ใช่การใช้เงินอย่างชาญฉลาด
ระยะที่ 4 พ.ศ. 2562-2563 ช่วงทุ่มให้สินเชื่อแต่ไร้กำลังซื้อ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประชารัฐสร้างไทย มาตรการต่อเติมเสริมทุน SMEs สร้างไทย เป็นมาตรการการคลังที่ไม่ถูกกับช่วงเวลา ปัญหาของประเทศคือด้านอุปสงค์ คนไม่มีกำลังซื้อ ผู้ผลิตจึงไม่ผลิตของมาขาย แต่การทุ่มเงินจำนวนมากให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชนในช่วงที่ไม่มีกำลังซื้อนั้น ผลประโยชน์จึงตกอยู่ในมือของเอกชนที่แข็งแกร่งและเป็นรายใหญ่อยู่แล้ว เอกชนรายย่อยไม่ได้ประโยชน์ เอกชนที่แข็งแรงอยู่แล้วกลับได้ประโยชน์
การใช้มาตรการทางการคลังที่ผิดพลาดเรื้อรังเป็นเวลาต่อเนื่องนั้นเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจประเทศ คนเสียประโยชน์คือประชาชนและประเทศ อยากฝากว่าการรับฟังและแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดไม่ใช่เรื่องที่น่าละอาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :