ไม่พบผลการค้นหา
ถือเป็นการขยับแรกของ ‘กองทัพ’ ภายหลังการเลือกตั้ง ที่เกิดปรากฏการณ์ ‘ก้าวไกลเอฟเฟกต์’ ขึ้นมา สะท้อนแนวคิดแบบ ‘อนาคตใหม่’ กำลังแผ่ขยาย ในการต่อสู้ทางการเมืองในระดับโครงสร้าง หนึ่งในเป้าที่ ‘พรรคก้าวไกล’ พุ่งมาคือ ‘กองทัพ’ ที่จะต้องออกไปจาก ‘การเมือง’

ล่าสุดในการประชุม ‘สภากลาโหม’ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ได้มีการชี้แจง ‘แผนปฏิรูปกองทัพ’ ระยะ 4 ปี ช่วงปี 2566-70 

หนึ่งในแผนการปฏิรูปที่น่าสนใจ คือ การ การยุติแผนการเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 7 (พล.ร.7) และ กองพลทหารม้าที่ 3 (พล.ม.3) ของกองทัพบก หากย้อนไปเมื่อสมัย ‘รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เมื่อปี 2554 ซึ่งในขณะนั้นมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ในขณะนั้น 

โดยหน่วย พล.ร.7 ตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เป็น ‘กองพลทหารราบเบา’ การให้เหตุผลตั้งหน่วยใหม่ในขณะนั้นก็เพื่อมา ‘เสริมภารกิจชายแดน’ เพราะในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ที่ดูแลพื้นที่ภาคเหนือมีเพียง พล.ร.4 หรือ กองกำลังนเรศวร ที่ดูแลแนวชายแดน และมี พล.ม.1 หรือ กองกำลังผาเมือง ที่ดูแลพื้นที่แนวชายแดน

การตั้ง พล.ร.7 ในขณะนั้นถูกมองว่าเพื่อมาดูแล ‘พื้นที่เขตเมือง’ ที่มีนามเรียกขานหน่วยว่า “ยอดทัพสยาม ระวังเมือง” เพราะพื้นที่ภาคเหนือเป็น ‘จังหวัดสีแดง’ ที่เป็นพื้นที่ฐานเสียง ‘พรรคเพื่อไทย’ อีกทั้งการตั้งหน่วย พล.ร.7 เกิดขึ้นในปี 2554 ซึ่งหลังเหตุการณ์ ‘เมษา-พฤษภา 52-53’ ด้วย

ดังนั้นการ ‘ยุติแผนขยาย’ พล.ร.7 หนึ่งในเหตุผลใน ‘เชิงการเมือง’ คือ เป็นสถานการณ์ที่ ‘พลังคนเสื้อแดง’ เริ่มอ่อนกำลังลงไป มาแทนที่ด้วย ‘พลังเสื้อส้ม’ เห็นได้จากผลการเลือกตั้งปี 2566 ที่พรรคก้าวไกลเจาะภาคเหนือ ตีบ้านใหญ่ ‘เพื่อไทย’ แตกหลายพื้นที่ 

แต่ส่วนเหตุผล ‘ทางการทหาร’ มีรายงานว่าเพราะ ‘กำลังพล’ ไม่เพียงพอ อีกทั้งหน่วย ‘ซ้ำซ้อน’ กับ พล.ร.4 ที่มีอยู่เดิม ในสภาวะที่กองทัพต้อง ‘ลดงบประมาณ’ ลง รวมทั้งมีกำลังพลที่ถูกโอนไปอยู่หน่วยนอก ทบ. รวมทั้งนโยบายการปรับลด ‘กำลังทหารพราน’ ในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ด้วย

พิธา ก้าวไกล สมุทรปราการ IMG_4674.jpeg

สำหรับแผนในอนาคต จะมีการถอน พล.ร.7 กลับไปอยู่ใน พล.ร.4 อีกครั้ง โดย กรมทหารราบที่ 7 , กองพันทหารทหารปืนใหญ่ที่ 7 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 17 โอนกลับไปอยู่ พล.ร.4 เช่นเดิม ยกเว้น กรมทหารราบที่ 17 จ.พะเยา ที่อาจคงไว้

ส่วน พล.ม.3 ค่ายเปรมติณสูลานนท์ จ.ขอนแก่น ก็อยู่ในแผ่น ‘ยุติขยายหน่วย’ เช่นเดียวกับ พล.ร.7 ซึ่งทั้ง พล.ร.7 กับ พล.ม.3 เปรียบเป็น ‘หน่วยเคียงคู่’ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกัน เมื่อปี54 สมัย รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ในยุคนั้น ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ เรืองอำนาจ เป็นความตั้งใจของ ‘ป๋าเปรม’พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ที่เป็น ‘ป๋าของทหารม้า’ ที่อยากให้มี ‘ทหารม้า’ เพิ่มที่ภาคอีสาน เพราะ ทบ. มี ‘ทหารม้า’ เพียง 2 กองพลเท่านั้น คือ พล.ม.1 ที่ดูแลชายแดนภาคเหนือ และ พล.ม.2 รอ. ที่ดูแลพื้นที่ กทม. และ จ.สระบุรี

เปรม ติณสูลานนท์  A1C04732-38B9-4F41-AEC2-CC944DC9A399.jpeg

ในยุคนั้นถูกมองว่าเป็นการ ‘วางสมดุล’ ทางอำนาจ ระหว่างขั้ว ‘บ้านป่ารอยต่อ’ กับ ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ แต่สุดท้าย พล.ม.3 ก็ไปซ้ำซ้อนกับ กรมทหารม้าที่ 6 ค่ายศรีพัชรินทร ใน จ.ขอนแก่น

ดังนั้นเมื่อกองทัพมีแผนยุติการขยาย พล.ร.7 จึงลามมาถึง พล.ม.3 ด้วยนั่นเองอีกทั้งมีการมองว่า ‘ทหารม้า’ มีเพียง 2 กองพลนั้นเพียงพอแล้ว รวมทั้งประเมินจากสถานการณ์สู้รบ-การเคลื่อนกำลังภูมิประเทศต่างๆ 

AFP - วันกองทัพ เมียนมา อ่องหล่ายน์

โดยในพื้นที่ภาคอีสาน มี กองพันทหารม้าที่ 6 (ม.พัน 6) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น , กองพันทหารม้าที่ 21 (ม.พัน 21) ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ร้อยเอ็ด , กองพันทหารม้าที่ 8 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา และ กองพันทหารม้าที่ 14 ค่ายเปรมติณสูลานนท์ จ.ขอนแก่น

ทั้งหมดนี้เป็นแผน ‘ลดขนาดกองทัพ’ เพื่อลด ‘งบประมาณ’ ตามแนวทางของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. เพื่อนำงบส่วนนี้ไปพัฒนาส่วนอื่นแทน โดยเฉพาะ ‘หน่วยทหารราบเบา’ เพื่อปรับภารกิจใหม่ เช่น การพัฒนาหน่วยสไตรเกอร์ พล.ร.11 , ศูนย์การบิน ทบ. ที่ต้องจัดหาอากาศยานทดแทน เช่น เฮลิคอปเตอร์ , การพัฒนาหน่วยรบพิเศษ เป็นต้น ตามรูปแบบ ‘ภัยความมั่นคง’ ที่เปลี่ยนไป

ไม่นับรวมการ ‘ปรับหน่วย’ ภายใน ทบ. ใหม่ หลังมีหน่วยถูกโอนออกนอก ทบ. และหน่วยคุมกำลังเกิม ที่กลายเป็น ‘ทหารคอแดง’ เป็นที่น่าสนใจว่า พล.ร.7 และ พล.ม.3 เป็นหน่วย ‘ทหารคอเขียว’ ทั้งคู่ด้วย

ถือเป็นช่วง ‘เปลี่ยนผ่านอำนาจ’ ทั้งภายใน ‘กองทัพ’ กับ ‘การเมืองระดับชาติ’ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป