ไม่พบผลการค้นหา
เสวนาเปิดนิทรรศการประจักษ์พยาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องเล่า-หลักฐาน-วัตถุ นักวิจัย 'ภาพถ่าย-ถังแดง' ย้อนหลักฐานรัฐไทยรุนแรง ผจก.โครงการพิพิธภัณฑ์ ถอดบทเรียน 'ลบ 2475-ทุบศาลาเฉลิมไทย' ชู 'มิวเซียม 6 ตุลา' ให้ประวัติศาสตร์คือปัจจุบัน

เนื่องในโอกาสเปิดนิทรรศการประจักษ์พยาน มีการจัดเสวนา 'วัตถุพยานกับความทรงจำบาดแผล' โดยมี นัดดา เอี่ยมคง พี่สาวนายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคม ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี ม.ศิลปกร จุฬารัตน์ ดำรงวิธีธรรม ผู้เขียน ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำ และธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 

เริ่มจาก 'นัดดา' เล่าถึงความสูญเสียคนในครอบครัว ช่วงคืนวันที่ 6 ทราบข่าว แม่ภาวนาว่า ถ้าเสียชีวิตขอให้เจอศพ การทำศพยังลำบาก เพียงหาธูปเทียนก็ทำให้ถูกไล่ออกจากวัดย่านฝั่งธน 43 ปีไม่มีใคลืม ยังฝังอยู่ในใจ ไม่รู้ใครผิดใครถูก ไม่อยากรู้ใครกระทำน้องของเรา ซึ่งเรารู้แต่เราไม่อยากรู้ เราไม่พูด เพียงแค่จำไว้ว่า ไอคนนี้แหละ 

ส่วน 'ธนาวิ' กล่าวว่า อธิบายงานวิจัยเกี่ยวกับ ภาพถ่าย 6 ตุลา ว่าด้วยปริซึมของภาพถ่าย การแตกตัวขององค์ความรู้ของความทรงจำของ 6 ตุลา ว่า มีภาพจำนวนมากที่ไม่คุ้นเคยกันตามที่ไหลเวียนในอินเทอร์เน็ต จนเป็นภาพจำ แต่มีภาพจากตำรวจที่ยึดของกลาง ภาพการชันสูตรพลิกศพ ประกอบกับภาพบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ที่มีคำพาดหัว จนกลายเป็นชนวนสำคัญอย่างหนึ่งของเหตุการณ์ 6 ตุลา 

ความทรงจำของภาพถ่ายในฐานะพยานหลักฐาน บางทีอาจทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนก็ได้ ไม่ใช่ความจริงอย่างที่เข้าใจ เช่น ภาพแขวนคอลานโพธิ์ เมื่อประกอบกับคำพาดหัว ก็อาจหลอกเราได้ การพูดถึงภาพถ่ายในฐานะพยานหลักฐานจึงมีโจทย์อยู่ 

ขณะที่ 'จุฬารัตน์' กล่าวว่า ถังแดงคือวิธีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ช่วง 2515-2518 การจับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมของพคท. ไว้ในค่ายทหาร 3-4 วัน ก่อนสอบสวนวิธีพิเศษ เพื่อให้ชี้เป้าญาติพี่น้องที่เข้าร่วมกับพคท. ซึ่งมีการทำร้ายร่างกาย จับใส่ถังน้ำมัน 200 ลิตร ใส่น้ำมันลงไป 20 ลิตร เรียกกันว่า มาตรา 20 ก่อนเผา มีการสตาร์ทรถจีเอ็มซีหากใครฟื้นเพื่อกลบเสียงร้อง รายงานที่ได้รับพบว่ามี 200 กว่าคนที่เสียชีวิตโดยถังแดงและหายสาบสูญ การรับรู้ผ่านข่าวเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ 

ต่อมามีการตั้งกรรมการสอบสวนโดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ มีการยอมรับว่า มีการเผาลงถังแดงจริง มีการเยียวยา พอรายงานออกมา กลับเป็นการยอมรับ ซึ่งให้เหตุผลว่า ผู้เสียชีวิตในถังแดง ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ หรือจะตีความว่า สมควรแล้วก็ได้ มีเพียง 50-80 คนเอง นี่คือการยอมรับอย่างเป็นทางการของฝ่ายรัฐ ส่วนหลักฐานนั้นคงหาไม่ได้แล้ว 

ปี2550 มีความพยายามรื้อฟื้นเรื่องถังแดงในพื้นที่ จ.พัทลุง โดยสหายเก่า มีการสร้าง อนุสรณ์สถานถังแดง ปี 2547 สอดคล้องกับประจักษ์พยานในพื้นที่อื่นอย่าง อนุสรณ์สถานสันติภาพ ที่จ.กาฬสินธุ์ ปี 2537 อนุสรณ์สถานประชาชนอีสานใต้ ที่จ.บุรีรัมย์ ปี 2542 อนุสรณ์สถานช่องช้างที่ จ.สุราษฎร์ธานีปี 2542 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ปี 2545 

นอกจากนี้ยังมีงานรำลึก ที่เคยจัดทุกปี ก็มีความขรุขระบ้างจากความเห็นที่ไม่ลงรอยของคนในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้มีความหมายกับอดีตพคท.มาก เพราะบ่งบอกว่านี่คือสิ่งที่รัฐกระทำต่อชาวบ้าน แต่อีกจำนวนหนึ่งนี่คือ การกระทำทิ่มแทงใจทำร้ายความรู้สึกของญาติ 

ด้าน 'ธนาพล' กล่าวว่า เราไม่อาจพูดเรื่อง 6 ตุลา ในทศวรรษที่ 2530 ได้เลย เพิ่งสามารถเริ่มพูดได้ช่วงปี 2539 พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ เกิดจากแนวคิดว่า งาน 6 ตุลา คนคงเบื่อแล้ว จึงคิดถึงข้อมูล การแขวนคอช่างไฟฟ้าที่จ.นครปฐม ปี 2559-2560 ทีมงานจึงไปค้นหาเจอ แต่ประตูไม่สามารถนำขึ้นเว็บไซต์ฐานข้อมูล 6 ตุลา ได้ แต่อีกหน่อยที่ดินคงขาย ประตูกลายเป็นเศษเหล็กหายไป 

เมื่อมองย้อนไปถึงศาลาเฉลิมไทย ของยุค 2475 ที่สะท้อนการเฉลิมฉลองเอกราชสมบูรณ์ สมัยจอมพล ป. ซึ่งถูกทุบด้วยเหตุผลแบบคึกฤทธิ์ว่า เพื่อให้เห็นทัศนียภาพของโลหะปราสาท ไอเดียสุดท้ายของคณะชนชั้นนำคือ ทุบอนุเสารีย์ประชาธิปไตย แต่ยังทำไม่ได้ ศาลาเฉลิมไทยถูกทุบทศวรรษ 2530 ป้ายไปอยู่กับร้านรับซื้อเศษเหล็ก จึงคิดว่า ถ้าทำเกี่ยวกับ 6 ตุลา จะปล่อยเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ จึงต้องเก็บประตูไว้ก่อน ด้วยการขอซื้อ เช่นเดียวกับลำโพงที่มีรอยกระสุนในห้องเก็บของตึกกิจกรรม ม.ธรรมศาสตร์ 

ประวัติศาสตร์ไม่รอเวลา มันต้องหายไปสักวันหนึ่งแน่ ถ้าไม่นำออกมาก่อน การทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐไทยรอขั้นตอนไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยีก๊อปปี้ออกมาก่อน ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องอดีต ประวัติศาสตร์คือเรื่องปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ไม่ใช่การสร้างตึก แบบหน่วยงานราชการ แต่คือกระบวนการ เวทีเสวนาคือส่วนหนึ่ง มีการจัดนิทรรศการเล็กๆ น้อยๆ มาโชว์ หากใครมีของมีเรื่องเล่ามีเงินก็ร่วมกันบริจาค ซึ่งโครงการนี้อาจไม่เสร็จก็ได้ แต่กระบวนการนั้นสำคัญ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :