ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 ในงานแถลงข่าวการจัดงาน "สัปดาห์เภสัช 2562" ได้มีการแถลงข่าวร่วมความร่วมมือการดำเนิน "โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น" ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมมอบสัญลักษณ์ร้านยาชุมชนอบอุ่น ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม โดยมีสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (โอสถศาลา) ดำเนินการโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น
รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า งานสัปดาห์เภสัชกรรมเริ่มต้นทุกวันที่ 26 มิ.ย. ของปี เป็นวันแรกที่มี พ.ร.บ.เภสัชกรรมในประเทศไทย เภสัชกรและเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมจะร่วมจัดงานพร้อมกันทั่วประเทศ มีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ บริการคัดกรองและให้คำปรึกษาสุขภาพ บริการทดสอบสารอันตรายในผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องสงสัย การตอบปัญหาชิงรางวัล รวมทั้งสนับสนุนของที่ระลึกต่าง ๆ
ในช่วงกระแสที่ประชาชนสนใจการใช้กัญชาทางการแพทย์ เภสัชกรพร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ผลิตชุดทดสอบเบื้องต้นในการตรวจสารไซบูทรามีน สารอันตรายลักลอบใส่ในยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อหวังผลลดน้ำหนัก ซึ่งจะมีการสนับสนุนเพื่อให้เภสัชกรใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยที่ประชาชนนำมาให้ตรวจสอบในงาน งานสัปดาห์เภสัชกรรม ปี 2562 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2562 พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประชาชนสามารถเข้าร่วมงานในพื้นที่จัดงานของแต่ละจังหวัด ทั้งโรงพยาบาล ร้านยา หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ตามที่แต่ละจังหวัดจัดงาน
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เป็นหน่วยบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เกิดจากความร่วมมือสภาเภสัชกรรม ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) เพื่อขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับชาว กทม. โดยเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) 26 แห่งในพื้นที่ 11 เขตกรุงเทพมหานครเข้าร่วมโครงการ รวมถึงสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน หรือ “โอสถศาลา” ร้านยาคุณภาพดำเนินการโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมเป็นต้นแบบร้านยาชุมชนอบอุ่น
ทั้งนี้ร้านยาชุมชนอบอุ่นเป็นมากกว่าร้านขายยา ดำเนินกิจกรรมสุขภาพบริการประชาชน ประกอบด้วย 1.คัดกรองความเสี่ยงในกลุ่มภาวะโรคเมตาบอลิก 2.ให้สุขศึกษา ความรู้ แนะนำด้านสุขภาพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU) 3.บริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน กรณีผู้มีที่มีปัญหาการใช้ยา 4.คุมกำเนิด และ 5.บริการคลินิกอดบุหรี่ เพิ่มบทบาทเภสัชกรร่วมดูแลสุขภาพประชาชน โดยประชาชนทุกสิทธิที่สนใจเข้ารับบริการได้ที่ร้านยาที่มีสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เพียงแสดงบัตรประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“ร้านยาชุมชนอบอุ่นเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมหน่วยบริการสุขภาพเพื่อสนับสนุนระบบสุขภาพของประเทศ ช่วยลดช่องว่างการบริการของโรงพยาบาลและหน่วยบริการสุขภาพอื่น ทั้งจำนวนและช่วงเวลาการเข้ารับบริการที่จำกัด ขณะที่ร้านขายาแผนปัจจุบัน (ขย.1) มีกระจายอยู่ทั่วตามชุมชน และมีช่วงเวลาเปิดและปิดทำการยาวนานกว่า เป็นช่องทางหนึ่งที่ดีเพื่อร่วมดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาศักยภาพการบริการของร้านยา เชื่อมต่อร้านยากับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว