นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางเข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ให้เร่งดำเนินคดีอาญาต่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารพรรค ตามที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานต่อนักการเมือง หลังจากถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่า พรรคอนาคตใหม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา 72 และ มาตรา 66 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งนำสู่การยุบพรรค ตาม มาตรา 92 และมีคำวินิจฉัยด้วยว่า การดำเนินคดีอาญากับนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่นั้น เสร็จสิ้นจากคณะกรรมการไต่สวนของ กกต.แล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา
ซึ่งยังต้องรวมถึงความผิดที่ทางพรรคอนาคตใหม่ นำเงินจากการระดมทุน การรับบริจาคหรือขายของที่ระลึก ไปใช้หนี้เงินกู้ให้กับนายธนาธรด้วย เพราะเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 87 ที่ห้ามไม่ให้นำเงินรายได้ไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนำไปใช้เพื่อการอื่น โดยกำหนดโทษไว้ในมาตรา 132
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องดำเนินการตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 124 และมาตรา 125 ที่กำหนดให้เอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งโทษจำคุก ปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และให้ทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
นายศรีสุวรรณ ยังระบุ ถึงเรื่องที่พรรคการเมืองต่างๆ กว่า 32 พรรครับบริจาค ที่ตนได้ยื่นเรื่องไว้กับ กกต. ว่า แต่ละพรรคมีการใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องตรวจสอบ แต่มีไม่กี่พรรคที่รายงานการกู้ยืมหรือเงินทดรองจ่ายต่อ กกต. เป็นล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่หลักแสน ซึ่งต้องแยกแยะความแตกต่างจากกรณีพรรคอนาคตใหม่ เพราะจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยมีหลายประเด็น แต่เฉพาะส่วนที่นายธนาธร ลดดอกเบี้ยให้ก็เป็นเงินจำนวนมาก หากนำมารวมกับที่นายธนาธร บริจาคให้พรรคก่อนหน้านี้ราว 8 ล้านบาท ก็จะเกิน 10 ล้านบาทที่กฎหมายห้ามไว้อยู่ดี
ดังนั้นต่อคำถามที่ว่า การรับหรือบริจาคเงินจะไม่เป็นปัญหา หากไม่เกิน 10 ล้านบาทนั้น ต้องดูรายละเอียดด้วย
ส่วนกระแสโจมตีทางโซเชียลมีเดียนั้น นายศรีสุวรรณ ระบุว่า เป็นเรื่องปกติและไม่ได้นำมาใส่ใจ เพราะตนต้องทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง