วันที่ 19 ม.ค. 2567 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานงานประชุมสัมมนาระดับนานาชาติในชื่อ Blockchain to Government Conference (B2GC): Where Government Meets with Blockchain’s World Leaders ที่จัดโดยกระทรวงดีอี โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) บริษัท ฟินสเตเบิ้ล โฮลดิ้ง จำกัด และเครือข่ายพันธมิตร พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ The Growth Engine of Thailand โดยมี โสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารกระทรวงดีอีและหน่วยงานในสังกัด พร้อมผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจากนานาประเทศเข้าร่วมงาน
ประเสริฐ กล่าวว่า นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวงดีอีในชื่อ The Growth Engine of Thailand ประกอบด้วย 3 เครื่องยนต์สำคัญได้แก่ 1. การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) 2. การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และ 3. การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital)
ประเสริฐ กล่าวว่า เครื่องยนต์ทั้ง 3 จะขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้หากขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญในการสร้าง ความเชื่อมั่น การเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย โปร่งใสในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยปัจจุบันมีองค์กรหรือหน่วยงานจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมา ประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตและการให้บริการ จนเกิดเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ดังนั้นบล็อกเชนจึงเปรียบเสมือนคลื่นลูกใหม่แห่งวงการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ
เครื่องยนต์ที่ 1 แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งกระทรวงดีอี มุ่งเน้นในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสจากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศอย่างจริงจัง โดยจะเร่งพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเครือข่าย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G ให้มีการใช้งานที่สอดคล้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม สร้างโอกาสความร่วมมือในการลงทุนและการค้าผ่านโครงข่ายการสื่อสารระหว่างประเทศสู่ระดับนานาชาติมุ่งเน้นบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำผ่านกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค การขยายโอกาสผ่านเส้นทาง One-belt และ China Plus One พร้อมเร่งรัดและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการค้าออนไลน์และ E-commerce ลดความยุ่งยากในการใช้ National Digital ID หรือระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนของผู้รับบริการภาครัฐและเอกชนผ่านระบบออนไลน์ เตรียมพร้อมรองรับยุคเศรษฐกิจ AI อีกทั้งเร่งรัดให้เกิดแผนแม่บทการส่งเสริมการ พัฒนา AI โดยเฉพาะการวางแนวทางการเยียวยาความเสียหายจากความผิดพลาดของ AI (Responsible AI) อย่างมีทิศทาง
นอกจากนี้ยังจะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของรัฐบาลดิจิทัล โดยเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริการแก่ภาคประชาชน ภาคเอกชนหรือแม้แต่ภาครัฐในทุกมิติและการเปิด API ให้ประชาชนและภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมเร่งรัดให้เกิดบริการภาครัฐแบบ One Stop Service พัฒนาระบบ One Wallet ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี Blockchain และ Smart Contracts มาใช้สร้างความน่าเชื่อถือและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจภาคเอกชนสามารถเข้าถึงการบริการได้สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส โดยจะเปิดโอกาสให้Digital Startup ไทยและพันธมิตระดับโลกเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ เช่น การยืนยันเอกสาร ราชการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลสาธารณะสุข การตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าเกษตรและโลจิสติกส์ และการบันทึก carbon credit ของภาคพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เครื่องยนต์ที่ 2 แนวทางการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลจะต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านแผนงานการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์โดยเร่งด่วน โดยจะประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและจับกุมผู้เปิดบัญชีแทน/บัญชีม้าในประเทศไทย เว็บพนันออนไลน์ มิจฉาชีพ Call Center และจะเพิ่มประสิทธิภาพระบบการอายัดบัญชีให้ทันท่วงที ควบคู่ไปกับการป้องกันการจู่โจมทางไซเบอร์จาก ต่างประเทศ ผ่านแผนงานการสร้างศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ (Cyber Alert Center) ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมการยกระดับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศทุกระดับ เตรียมความพร้อมภาครัฐและภาคเอกชนด้านข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยการให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดความพร้อมด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการส่งเสริมระบบคลาวด์กลางภาครัฐทั้งในระดับความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดและระดับทั่วไป อีกทั้งเทคโนโลยี Blockchain ยังจะมาช่วยเสริมเครื่องยนต์ที่ 2 ในการตรวจสอบยืนยันตัว บุคคล การบันทึกหรือติดตามธุรกรรมทางการเงิน ที่ช่วยป้องกันการแอบอ้าง ปลอมแปลง เพิ่มความ โปร่งใส
เครื่องยนต์ที่ 3 การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ กระทรวงดีอี จะให้ความสำคัญกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ดิจิทัล สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ผ่านการ สร้างโรงเรียนโค้ดดิ้งสำหรับเด็กไทยทุกคน (Coding Thailand) และการสร้างห้องเรียนทางเลือกให้ เด็กมีสิทธิเลือกเรียนวิชาชีพอนาคต ตรงใจ ตรงตัว ตรงงาน รวมถึงการสร้างเด็กอาชีวะดิจิทัล (Digital Skills for Future Industries) สร้างแรงงานไทยให้มีทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล โดยการสร้างห้องเรียนฟรีสำหรับคนไทยวัยทำงาน จัดให้มีห้องเรียนเปิดด้านดิจิทัลหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของคนไทย เรียนฟรี 24 ชั่วโมง ช่วยให้คนวัยทำงานทุกคนมีโอกาส Upskill และ Reskill ทักษะที่เหมาะสมกับตัวเองและทักษะอื่นที่จำเป็นสำหรับงานในโลกอนาคตและจัดให้มีมาตรการทางภาษี เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล (Incentives for Thais)
ประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้เรายังมุ่งการเพิ่มกำลังคนดิจิทัลในสาขาขาดแคลน โดยการพัฒนาระบบการศึกษาด้านดิจิทัลรูปแบบเปิด (Open Digital University) มุ่งพัฒนาระบบการเรียนบนโลกดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยได้เรียนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลกผ่านระบบ 5G พัฒนาบุคลากรดิจิทัลโดยการส่งเสริมภาคอาชีวศึกษาเพื่อให้จบไปมีงานทำ พร้อมดึงดูดกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนยิ่งยวด โดยให้มี Global Digital Talent Visa สำหรับเด็กที่จบในมหาวิทยาลัย Top 600 ระดับโลกมีโอกาสได้มาท่องเที่ยวและทำงานกับบริษัทไทยที่มีความตกลงได้โดยสะดวก เพื่อประโยชน์ในการเติมเต็มกำลังคนของประเทศและสร้างโอกาสด้านดิจิทัลให้คนกลุ่มเปราะบาง ผ่านแผนงาน Digital for ALL หรือการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต มีงานทำและมีรายได้
“เครื่องยนต์ที่ 3 ถือเป็นโอกาสในการเพิ่มศักยภาพนักพัฒนาโปรแกรม (Programmer) ของไทยให้ขยายตลาดสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลในอนาคต เช่น Web3 ร่วมกับภาคการศึกษาและพันธมิตรระดับสากลที่มาร่วมงาน ผมดีใจที่ได้เห็นความร่วมมือจาก Blockchain Protocol ระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่สนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ในฐานะ ตัวแทนภาครัฐ ประเทศไทยพร้อมจะเป็นเวทีกลางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐาน Blockchain ในภูมิภาค โดยจะผลักดัน ecosystem และกลไกภาครัฐดังที่กล่าวมาให้เกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว
สำหรับงานประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ Blockchain to Government Conference (B2GC) : Where Government Meets with Blockchain’s World Leaders มีกำหนดจัดขึ้น 3 วันคือระหว่างวันที่ 17 - 19 มกราคม ณ Blockchain Technology Center (BTC) จังหวัดภูเก็ต โดยในการประชุมจะเน้นบทบาทของเทคโนโลยีบล็อกเชนในการยกระดับบริการภาครัฐในด้านการพิสูจน์ตัวตน การเงิน การศึกษา สาธารณสุข การใช้สิทธิออกเสียง และด้านอื่น ๆ ที่ต้องการความเชื่อมั่นของรัฐ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงาน ภาครัฐนำไปศึกษา ต่อยอดและประยุกต์ใช้จริง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงและ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดมากมาย