ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.ก้าวไกลจี้ ‘จุรินทร์’ เร่งเจรจาจีน เข้มงวดสินค้าส่งออก สร้างความมั่นใจผลไม้ไทย หวั่นทุเรียน-ลำไยกระทบแสนล้าน ด้านรองนายกฯ แจง จีนจะพยายามผ่อนปรนและเปิดด่านให้ได้ต้นปี 2565

วันที่ 16 ธ.ค. 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผูู้แทนราษฎร ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดถาม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต่อกรณีผลไม้ไทยอาจได้รับผลกระทบหนักถึงหนึ่งแสนล้านบาทหลังจีนปิดด่าน ว่า จ.จันทบุรี มีทุเรียนและลำไยเยอะที่สุดในประเทศไทย ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดสูงถึงเกือบ 6 หมื่นล้านบาทโดยมีประเทศจีนเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 มูลค่าสูงถึง 51,098 ล้านบาท (ขยายตัว 66.1%) ส่วน ลำไย ในปี พ.ศ.2563 ทั้งปีมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 17,000 ล้านบาท เป็นการส่งออกไปยังประเทศจีนสูงถึง 12,000 ล้านบาท

“ต้องยอมรับว่า ประเทศจีนเป็นประเทศหลักในการนำเข้าผลไม้จากประเทศไทย แต่ขณะนี้มีนโยบายที่เข้มงวดมากในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เพื่อเตรียมการสำหรับโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 ในกรณีที่เจอโควิดที่ด่าน ถ้าไม่ตีกลับสินค้า ก็จะเผาสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์นั้นทิ้งทันที แถมยังมีมาตรการการระงับการนำเข้าสินค้าตามมาอีกด้วย ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีสัญญาณเตือนจากกรณีลำไยที่พบเพลี้ยแป้งจนถูกระงับการนำเข้ามาแล้ว จนทูตเกษตรและทูตพาณิชย์ต้องไปเจรจา"

ส่วนกรณีทุเรียน จีนได้สุ่มตรวจและพบเชื้อโควิดปนเปื้อนบนกล่องทุเรียนนำเข้าจากไทย โดยตรวจพบในตลาดที่จีน ไม่ได้ตรวจพบที่ด่านหรือระหว่างการขนส่ง ผ่านมา 4 เดือน แทนที่รัฐบาลจะเร่งยกระดับมาตรฐานการป้องกันการปนเปื้อนให้เข้มงวดขึ้น ครอบคลุมการปนเปื้อนเชื้อโควิดตามมาตรฐานสากลที่จีนยอมรับ รัฐบาลกลับนิ่งนอนใจ คิดว่าการตรวจพบเชื้อโควิด ไม่ได้เจอที่ด่าน เป็นเพียงการตรวจพบที่ตลาดเล็กๆ เท่านั้น คิดว่านี่คือปัญหาแค่เศษเสี้ยวไม่ถึง 1% ไม่เคยเฉลียวใจว่าจะมีผลกระทบต่อส่งออกทุเรียนไปจีนเลย

ญาณธิชา ระบุว่า ขณะนี้ทางการจีนตรวจสอบการปนเปื้อนเข้มงวดมาก ตรวจเชื้อโควิด 100% ทุกล็อต และไม่ได้ตรวจเฉพาะที่ด่าน แต่ตรวจในทุกขั้นตอน คาดว่าเนื่องจากมาตรฐานการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดของไทยไม่ได้อยู่ในมาตรฐานที่จีนมั่นใจได้ จึงทำให้ปัจจุบันที่ด่านชายแดนของจีน ทั้งทางบก และทางเรือ เริ่มมีการจำกัดการนำเข้าผลไม้จากไทย เช่น ด่านโหย่วอี้กวน เปิดให้ตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ไทยเข้าได้เพียง 12-15 ตู้ต่อวัน ลำไยถูกห้ามนำเข้า โดยทางด่านแจ้งว่าจะสามารถเปิดให้เข้าได้ในวันที่ 25 ธ.ค. 2564 แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอน ขณะที่ด่านโม่ฮาน ปิดด่านไม่ให้ตู้คอนเทนเนอร์ไทยผ่านเข้าด่าน ด่านตงซิน มีการเปิดรับตู้คอนเทนเนอร์เพียง 30 ตู้ต่อวัน แบ่งเป็นสินค้าจากไทย 20 ตู้ และจากเวียดนาม 10 ตู้ สำหรับทางเรือ เปิดรับตู้คอนเทนเนอร์ให้เข้าได้เพียง 130 ตู้ต่อวัน

“การส่งออกทุเรียนสดจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน จะส่งออกประมาณวันละ 500-750 ตู้ต่อวัน รวมทั้งสิ้น 25,000 ตู้ ถ้าปัญหานี้ถูกละเลย และลากยาวออกไป จนถึงหน้าทุเรียนในเดือน ก.พ. ปีหน้า จินตนาการไม่ออกเลยว่า สถานการณ์จะโกลาหล และประชาชนจะเดือนร้อนแสนสาหัสขนาดไหน ปัจจุบันปัญหาได้เกิดขึ้นกับชาวสวนลำไยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะในเมื่อการส่งออกลำไยมีข้อติดขัด จำเป็นต้องชะลอการเก็บเกี่ยวลำไย ทำให้ราคาลำไยตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ราคาเหลือแค่ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยก้นสวนที่ล้งไม่เก็บ ก็ต้องจำใจขายที่กิโลกรัมละ 15 บาท สำหรับลำไยลูกร่วงเหลือแค่กิโลกรัมละ 3-5 บาท และยังมีลำไยรอเก็บเกี่ยวอีก 40%-50% แต่ยังไม่พบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมใดๆ มาช่วยเหลือชาวสวนลำไย ที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 250,000 ครัวเรือน โดยในนี้เป็นชาวจันทบุรี ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว ถึง 50,000 ครัวเรือน” 

ทั้งนี้ ญาณธิชา ระบุว่า การคลี่คลายปัญหากรณีที่ด่านศุลกากรที่ประเทศจีนต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ จึงอยากทราบว่า รัฐบาลได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรและผลการเจรจากับประเทศจีนในเรื่องของการเปิดด่านเป็นอย่างไร เพราะถ้าช้าไปกว่านี้ จะไม่ทันการณ์ และจะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวสวนลำไย ลามมาถึงชาวสวนทุเรียนด้วยซึ่งความเสียหายอาจมากถึงแสนล้านบาท

จุรินทร์ -8965-425C-943D-41BE7CFDF19A.jpeg

ด้าน จุรินทร์ ชี้แจงว่า เรื่องการบูรณาการ 3 กระทรวงได้ดำเนินการไปแล้วทุกเรื่อง ส่วนปัญหาการขนส่งผลไม้ ทุกครั้งที่มีปัญหาได้สั่งการทูตพาณิชย์และทูตเกษตรประจำด่านเจราเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ นอกจากนี้ยังมีการเจรจากับจีนในทุกช่องทางรวมถึงทางการทูต ทำให้ วันที่ 15 พ.ย. มีมาตรการเริ่มทดลองเปิดด่านให้สินค้าไทยไปจีนได้ภายใต้มาตรการคุมเข้มไม่น้อยกว่า 150 คันต่อวัน นอกจากนี้ ทูตพาณิชย์ไทยประจำคุนหมิงได้หารือกับทางจีนได้คำตอบว่าจะพยายามผ่อนปรนและเปิดด่านให้ได้ต้นปี 2565 

จากนั้น ญาณธิชา ถามคำถามที่สองว่า ตามที่รัฐมนตรีกล่าวว่าอยู่ในช่วงทดลองจึงยังมีรถผ่านได้เพียงร้อยกว่าคันต่อวัน แต่ถ้าต่อไปยังได้เท่านี้จะทำอย่างไร เพราะในช่วงที่ทุเรียนออกในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงอาจต้องมีรถถึงวันละพันคันต่อวัน ดังนั้น การแก้ปัญหาควรจะต้องเป็นเรื่องมาตรการป้องกันการปนเปื้อนโควิดทั้งระบบ ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยวจนถึงเดินทาง เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลที่จีนยอมรับได้ ตั้งแต่เดือน ส.ค. รัฐบาลที่เกิดปัญหาจึงต้องถามว่า รัฐบาลดำเนินการรูปธรรมเรื่องนี้ไปแล้วอย่างไร เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ไม่มีทางทันอย่างแน่นอน 

จุรินทร์ ชี้แจง มาตรการการป้องกันการปนเปื้อนโควิดทั้งทุเรียนและลำไยรวมถึงผลไม้ต่างๆ ได้ดำเนินการคุมเข้มมานานแล้ว เพราะเราตระหนักว่าในสถานการณ์โควิด สินค้าไทยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั่วโลกได้จึงเป็นผลให้การส่งออกของเราเติบโตขึ้นได้ 

จากนั้น ญาณธิชา กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังกังวล จีนยังกังวลเพราะตรวจพบทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตายบนบรรจุภัณฑ์ และยังประชาชนในพื้นที่ได้ฝากถามว่า ลำไยที่ยังไม่ได้เก็บอีกเกือบร้อยละ 50 จะช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร 

จุรินทร์ ชี้แจงว่า ลำไยจันทบุรีเป็นนอกฤดู แต่แนวทางของกระทรวงพาณิชย์คือไม่ปล่อยให้ปัญหาล่วงเลย จึงเป็นครั้งแรกๆที่มีมาตรการเชิงรุกตั้งแต่ก่อนผลไม่ปีนี้ออกมา เรียกว่า มาตรการ 17+1 สำหรับสินค้าเกษตร เช่น การสนับสนุนล้งเรื่องการรับซื้อไม่ให้ผลไม้กองที่สวน รวมถึงเร่งส่งออกด้วยการเจรจาจับคู่ประเทศต่างๆกว่า 10 ประเทศ เป็นมาตรการเชิงรุกที่แก้ปัญหาหน้างานตามระยะเวลาต่างๆ