วันที่ 10 ม.ค. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย 3 ร่าง คือร่างของภาคประชาชน 2 ร่าง หนึ่งนำโดย ธีรภัทร์ คหะวงศ์ สองนำโดยเจริญ เจริญชัย และร่างของ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพฯ เขต 24 พรรคก้าวไกล
เท่าพิภพในฐานะผู้เสนอกฎหมายกล่าวว่า ร่างนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางการเมือง (Political Project) ที่ชื่อ “สุราก้าวหน้า” แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุรา ตนเสนอเพราะตั้งคำถามว่าที่ผ่านมากฎหมายได้ผลสัมฤทธิ์จริงหรือไม่ ใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่มากเกินไปหรือเปล่า ยืนยันว่าตนไม่ต้องการให้กฎหมายนี้อ่อนลง แต่ต้องการให้เข้มแข็งขึ้น
โดยประเด็นที่เป็นข้อแตกต่างของแต่ละร่าง ได้แก่ ข้อแรก คณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างแรกต้องการเพิ่มสัดส่วนกรรมการในสัดส่วนสมัชชาประชาชนรณรงค์สุราระดับจังหวัด ร่างที่สองเพิ่มสัดส่วนกรรมการในสัดส่วนผู้ประกอบธุรกิจสุรา ขณะที่ร่างของตนและพรรคก้าวไกลก้าวข้ามความขัดแย้ง ด้วยการยกเลิกคณะกรรมการฯ ไปเลย และให้การออกกฏหมายลำดับรองเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบกฎกระทรวง
เพราะคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมาไม่มีความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างเพียงพอ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขัดกับหลักการการแบ่งแยกอำนาจเพราะหน่วยงานที่เป็นผู้ออกกฏ กลับเป็นผู้ใช้กฎหมาย ถือเป็นการตีเช็คเปล่าให้คณะกรรมการฯ ไปออกกฎเกณฑ์ตามอำเภอใจ นี่คือมรดกบาปจากรัฐประหาร 2549 ที่ทำให้รัฐเป็นรัฐข้าราชการ
ประเด็นต่อมาคือมาตรา 32 การห้ามโฆษณา ร่างฉบับแรกเพิ่มในกฎหมายให้เข้มงวดขึ้นโดยห้ามเพิ่มโฆษณาตราเสมือนโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างที่สอง โฆษณาได้แต่ต้องเกินจริง ส่วนร่างของตน ห้ามผู้ผลิต โฆษณาหรือจำหน่ายแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี คนธรรมดาโพสต์ไม่ผิดหากพิสูจน์ว่าไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วม
“ปัจจุบันค่าปรับของการทำผิดกฎหมายเรื่องนี้ แพงกว่าคดีเมาแล้วขับเสียอีก ประเทศนี้มองว่าถ้าคนเห็นโฆษณาเบียร์ในทีวีแล้วจะวิ่งไปซื้อ เป็นการดูถูกประชาชน ถ้าวันหนึ่งสุราก้าวหน้าหรือสุราพื้นบ้านผ่านสภาฯ ผู้ประกอบการรายเล็กทำสุราได้ แต่โฆษณาไม่ได้ แล้วเขาจะขายใคร” เท่าพิภพกล่าว
สส.กรุงเทพฯ เขต 24 กล่าวต่อว่า อีกประเด็นคือมาตรา 28 เรื่องเวลาขาย ร่างแรกคงเดิมทุกประการ ร่างที่สองและร่างของตนยกเลิกการจำกัดเวลาขาย จากประสบการณ์ในบางประเทศพบว่าการจำกัดเวลาขายไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลายเป็นว่าทำให้คนดื่มเยอะขึ้น เมามากขึ้น
เท่าพิภพย้ำด้วยว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีที่ ครม. จะอุ้มร่างนี้ไปศึกษาอีก 60 วัน เหตุใดไม่ให้ผู้แทนประชาชนเป็นผู้พิจารณา เราควรเชื่อมั่นในกรรมาธิการของสภาฯ ว่าจะเป็นกลไกสำคัญแก้ไขความขัดแย้ง สภาฯ มีไว้ให้คนถกเถียงกัน และเราควรเชื่อในการตัดสินใจของประชาชน ดังนั้นขอให้ที่ประชุมฯ ผ่านทั้ง 3 ร่างในวาระหนึ่ง ไปถกเถียงกันต่อในชั้น กมธ.
อย่างไรก็ตาม สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ระบุข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 118 ให้ ครม. นำร่างไปศึกษาภายใน 60 วันก่อนส่งกลับสภาฯ เพื่อลงมติวาระ 1 ให้เหตุผลว่าเพราะเป็นร่างที่มีเนื้อหาหลักการเดียวกันกับร่างที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ เพื่อความรอบคอบในการดูทุกฉบับให้สมบูรณ์ จึงขอรับร่างฉบับนี้ไปพิจารณาก่อน
ทำให้ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายช่วงหนึ่งว่า พรรคฝ่ายค้านพิจารณาร่วมกันเห็นว่า ร่างดังกล่าวของภาคประชาชนไม่ได้เสนอครั้งแรก แต่เสนอเข้ามา ตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว เชื่อว่า สส. พิจารณาได้ จะรับหรือไม่รับก็ต้องมีเหตุผลอธิบาย ไปว่ากันต่อในชั้น กมธ. แต่วิธีอุ้มไปศึกษานั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อมีร่างของ สส. หรือของภาคประชาชนเข้าสภาฯ ครม. ทำแบบนี้เหมือนไม่ได้ศึกษาร่างกฎหมายมาก่อน ต้องตั้งคำถามว่าทำงานกันอย่างไร ตนไม่เห็นด้วยและขอใช้สิทธิคัดค้าน
ผลการลงมติ ที่ประชุมสภาฯ เห็นด้วยให้ ครม. รับร่างไปศึกษาไม่เกิน 60 วันทั้ง 3 ร่าง โดยร่างแรกของภาคประชาชน (เสนอโดย ธีรภัทร์ คหะวงศ์) มีผู้ลงมติ 397 คน เห็นด้วย 241 คน ไม่เห็นด้วย 159 คน ส่วนอีก 2 ร่างคือร่างของภาคประชาชน (เสนอโดย เจริญ เจริญชัย) และร่างของพรรคก้าวไกล ที่ประชุมสภาฯ มีผู้ลงมติ 420 คน เห็นด้วย 257 คน ไม่เห็นด้วย 156 คน งดออกเสียง 7 คน