ทศวรรษแห่งการเอาตัวออกห่างจากการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในมาเลเซีย เสมือนเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน นับตั้งแต่ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลละฮ์ สุลต่าน อะฮ์มัด ซะฮ์ (สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียพระองค์ที่ 16) ย่างเข้ามาในสนามการเมือง หลัง มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียตัดสินใจลาออกเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา
ภายหลังสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยความอลหม่านของการเมืองมาเลเซียไปจนถึงการทรยศหักหลังของสมาชิกพรรคการเมือง มูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย ได้รับแต่งตั้งจาก สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฯ ให้ดำรงตำแหน่ง 'นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 8' ของประเทศ โดยปราศจากการลงคะแนนเสียงจากสมาชิกรัฐสภา
สำหรับมาเลเซีย ซึ่งตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมามีองค์การมลายูรวมแห่งชาติ หรือ อัมโน เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ครองอำนาจบริหารประเทศจนแพ้การเลือกตั้งในปี 2561 ให้กับ มหาเธร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรีท่ามกลางวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจ-สาธารณสุข ของกษัตริย์จะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นชินของสังคม
ด้วยอำนาจสั่งการไม่เต็มที่ของนายกคนปัจจุบัน บทบาททางการเมืองจึงถูกส่งผ่านให้เข้าไปอยู่ในมือของกษัตริย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
เมื่อ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา แถลงการณ์สำนักพระราชวังมาเลเซียชี้ว่า ภายหลังที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงร่วมหารือกับสภาผู้ปกครองของมาเลเซียในทุกรัฐแล้ว ทรงมีพระราชวินิฉัยว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิด ซึ่งอ้างเหตุผลเพื่อการรับมือต่อการระบาดของโควิด-19 แม้มีเสียงวิจารณ์ว่าการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินดังกล่าว เป็นความพยายามของนายกมูห์ยิดดินที่จะรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล
โจฮาน ซาราวันนามุตตู นักวิจัยอาวุโสผู้ศึกษาการเมืองมาเลเซียมากว่า 30 ปี ระบุว่า "เรากำลังมีราชวงศ์ที่เข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญในทางการเมือง" ซึ่งจะส่งผลต่อการเมืองประเทศอย่างแน่นอน
เมื่อ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย รายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฯ ทรงมีรับสั่งให้ "สมาชิกสภาฯ รับฟังคำแนะนำของราชวงศ์ในการยุติความบาดหมางทางการเมืองโดยทันทีและให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอันดับแรกด้วยการผ่านงบประมาณปี 2564 อย่างไม่มีการแทรกแซง"
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์อ้างอิงคำวิจารณ์ของนักวิเคราะห์ถึงการวางตัวไม่เป็นกลางของราชวงศ์ที่พยายามสนับสนุนรัฐบาลของนายมูห์ยิดดิน ยัสซิด อย่างมีนัยสำคัญ
กลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฯ ทรงมีรับสั่งให้ "แก้ปัญหาผ่านการเจรจาและกระบวนการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ" แม้ก่อนหน้านี้จะเลื่อนการพบปะพูดคุยเพื่อแก้ปัญหากับผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งบริเจ็ต เวลส์ นักวิจารณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านมาเลเซียชี้ว่า การที่สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฯ "เลื่อนและปฎิเสธที่จะเจอกับทุกฝ่ายท่ามกลางวิกฤตการเมืองทำให้เชื่อได้ว่าท่านทรงสนับสนุนสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือ มูห์ยิดดิน"
ขณะที่ ปีเตอร์ มัมฟอร์ด ที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของยูเรเซีย กรุ๊ป ชี้ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความห่วงใยว่าความขัดแย้งทางการเมืองท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อประเทศ
สำนักข่าวต่างประเทศชี้ว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยในมาเลเซียสนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของราชวงศ์ท่ามกลางความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล หายนะทางเศรษฐกิจ และวิกฤตโรคระบาด เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฯ มีรับสั่งให้ยุติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แฮชแท็ก #daulattuanku ซึ่งมีความหมายโดยง่ายว่า "ทรงพระเจริญ" ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์
ทั้งนี้ บลูมเบิร์ก ชี้ว่า ความคล้ายคลึงที่พบได้ระหว่างสถาบันกษัตริย์มาเลเซียและของประเทศไทย คือการวิพากวิจารณ์ราชวงศ์ของทั้ง 2 ประเทศ อาจต้องเผชิญหน้ากับผลลัพธ์ทางกฎหมายเช่นเดียวกัน
โดยหนังสือพิมพ์ The Edge ของมาเลเซียรายงานว่า เดือนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนักการเมืองฝ่ายค้านรายหนึ่งซึ่งโพสต์ข้อความปลุกปั่นเกี่ยวกับราชวงศ์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว
อ้างอิง; Bloomberg, JT, WPR, ST, SCMP, BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;