เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด , วิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ, นิรันดร์ นันตาลิต อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีพิเศษ, พณิชพงศ์ วัชรวดี เลขานุการสำนักงานคดีพิเศษ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น ฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ ปปง., เทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. และ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการ ปอศ. และจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการกฎหมาย นำโดย ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ และศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน และ รศยุพา มิคะเสน ผู้ช่วยผู้จัดการกลุ่มงานกำกับสมาชิกและการซื้อขาย ได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์และการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานด้านยุติธรรมของประเทศญี่ปุ่น โดยทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Stock Exchange of Thailand : SET) เมื่อระหว่างวันที่ 4-8 พ.ย.ที่ผ่านมา
โดยคณะทำงานของอัยการเเละหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้เดินทางดูงานที่
1. บริษัทหลักทรัพย์ Daiwa (Daiwa Securities Group)
2. กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น
3. Financial Services Agency (FSA)
4. Japan Exchange Group (JPX)
อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่าซึ่งจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้รับความรู้และมีความเข้าใจมากขึ้นว่าหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่นนั้น คือ 1. Securities and Exchange Surveillance Commission (SESC) ซึ่งเทียบเคียงได้กับสำนักงาน กลต. และ 2. Japan’s Financial Services Agency (FSA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลตลาดเงินและตลาดทุน
3. Public Prosecutor สำนักงานอัยการที่จะทำหน้าที่ดำเนินคดี โดยเมื่อ SESC พบความไม่ปกติเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับการปั่นหุ้นหรือการทุจริตในตลาดเงินและตลาดทุน อันเป็นความผิดในทางอาญาแล้ว ก็จะทำการตรวจสอบแล้วส่งเรื่องไปยัง Public Prosecutor
เพื่อดำเนินคดีและใช้มาตรการในทางกฎหมายในการลงโทษเพื่อป้องกันและปราบปราม แต่หากเป็นกรณีที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้แล้ว ก็จะทำการตรวจสอบแล้วส่งเรื่องไปยัง FSA Commissioner เพื่อมีคำสั่ง Monetary Penalty Payment Order และทำการเปรียบเทียบปรับซึ่งจะคล้ายกับมาตรการของประเทศไทย
ทั้งนี้ ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการการเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานต่างๆที่ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในตลาดทุนและตลาดเงินของประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นแนวทางและนำมาปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสมกับการดำเนินงานในประเทศไทย
หน่วยงานต่างๆสามารถที่จะมีความร่วมมือเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบสอบสวนเฝ้าระวัง เกี่ยวกับการกระทำความผิดในตลาดทุนและตลาดเงิน อีกทั้งการศึกษาดูงานในครั้งนี้ยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชญากรรมทางการเงินมากยิ่งขึ้น
เพื่อให้รู้เท่าทันอาชญากรทางการเงิน ซึ่งในอนาคตจะได้มีความร่วมมือและการประสานงานกันในการทำงานและมีการร่วมสัมมนาและร่วมศึกษาดูงานกันมากขึ้นในระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์และการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานด้านยุติธรรมของประเทศไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป